เมื่อไทยตกอันดับการท่องเที่ยวโลก! | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

เมื่อไทยตกอันดับการท่องเที่ยวโลก! | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

สำหรับประเทศที่ฝากความหวังทางเศรษฐกิจไว้กับการท่องเที่ยวเช่นประเทศไทย การจัดลำดับการท่องเที่ยวของไทยในเวทีโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในโลกโดยที่เราไม่ต้องเสียงบประมาณ

ล่าสุด World Economic Forum (WEF) ประกาศการจัดลำดับการพัฒนาการท่องเที่ยวและการเดินทางของ 119 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้ลำดับที่ 47 ตกลงมา 6 ลำดับเมื่อเทียบกับดัชนีปี 2562 ซึ่งไทยติดอันดับที่ 41 ค่าคะแนนของเราลดลงร้อยละ 2.5

ที่น่าตกใจก็คือว่าถ้าเทียบกันในประเทศอาเซียน ซึ่งเราเคยเป็นที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ตอนนี้อินโดนีเซียได้แซงหน้าไปแล้ว โดยขึ้นเป็นลำดับที่ 22 สามารถกระโดดขึ้นไปถึง 14 อันดับในช่วงเวลาเดียวกัน 

หากมาดูการจัดลำดับในเอเชียแปซิฟิก 19 ประเทศ ญี่ปุ่นเป็นที่ 1 เราเป็นที่ 10 และยังไม่ถูกนับรวมอยู่ใน 30 ประเทศแรกที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและเป็นกลุ่มที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกัน เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของ GDP ด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวของ 119 ประเทศ

ดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยวและการเดินทางนี้ เดิมมีชื่อว่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและการเดินทาง (Travel and Tourism Competitiveness Index : TTCI) เป็นตัวดัชนีที่วัดความสามารถด้านซัพพลายและการบริหารจัดการเป็นสำคัญ โดยมีองค์ประกอบ 5 เสาหลัก ได้แก่

1.สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว 2.นโยบายด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนอื่นๆ 3.สาธารณูปโภคพื้นฐานและการให้บริการ 4.ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว และ 5.ความยั่งยืนของการท่องเที่ยว

ทีนี้มาดูรายละเอียดข้างในว่า เรามีปัญหาอะไรถึงตกลำดับมามากมายขนาดนี้ การดูเข้าไปถึงรายละเอียดนี้มีความสำคัญเพราะจะแสดงถึงจุดอ่อนของไทย และประเด็นที่เราจะต้องปรับปรุงเพื่อให้การท่องเที่ยวของเราดีขึ้น

เรื่องแรกก็คือ สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว พบว่าสิ่งที่ประเทศไทยมีคะแนนที่ต่ำกว่าครึ่ง (3.5 จากคะแนนเต็ม 7) ประเด็นแรกคือ ด้านหลักนิติธรรม (rule of law) (คะแนน 3.34) ความมั่นคงของนโยบายของรัฐ (3.39)

เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่า WEF เข้าใจทิศทางสถานการณ์ของบ้านเมืองพอสมควรทีเดียว แต่ยังให้คะแนนสูงไป เพราะความจริงระบบยุติธรรมของเรายับเยินไปหมดแล้ว

การบริหารนโยบายของเราก็ชักเข้าชักออก ขาดการวิเคราะห์ทบทวน มีแต่นโยบายการตลาดด้านการเมือง การบริหารไม่มีความเป็นเอกภาพ

ถัดไปก็คือ กลุ่มตัวชี้วัดความปลอดภัยซึ่งคะแนนของเราอ่อนในเรื่องความเชื่อมั่นในตำรวจ (3.48)

เรื่องนี้ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมคะแนนเกือบผ่านทั้ง ๆ ที่ตำรวจของเรามีปัญหาและออกสื่อไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นขู่กรรโชกนักท่องเที่ยว ตบทรัพย์ และอุ้มไปเรียกค่าไถ่

ที่น่ากังวลจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ซึ่งเราคาดหวังว่าจะเป็นเมดิคัล ฮับ ปรากฏว่าเราได้คะแนน 2.11 จากตัวชี้วัดของจำนวนหมอต่อประชากร 1,000 คน และได้คะแนน 2.75 สำหรับจำนวนเตียงต่อประชากร 10,000 คน ดูเหมือนว่าเราจะพยายามทำตัวเป็นเตี้ยอุ้มค่อม

แต่ก็โชคดีที่เราได้คะแนน 7 เต็มจากอีก 2 ตัวชี้วัดด้วยกัน คือด้านการสาธารณสุขพื้นฐานและด้านการใช้น้ำดื่มพื้นฐาน เรื่องนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการประปาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ช่วยจัดหาน้ำประปาให้ประชาชน  

ในด้านแรงงาน เรามีความอ่อนแอในเรื่องร้อยละของแรงงานที่มีการศึกษาระดับสูง (3.24) สิทธิของแรงงานซึ่งคะแนนอยู่ในระดับต่ำคือ 2.2 มาตลอดและไม่ดีขึ้นเลย ถัดไปก็คือค่าใช้จ่ายด้านการคุ้มครองทางสังคมเทียบเป็นร้อยละของ GDP ซึ่งเราได้ค่าคะแนน 2.32

สำหรับในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทั่วไปทั้งกลุ่มนี้เรามีคะแนนค่อนข้างสูงคือ 5.68 แต่จะอ่อนแอเล็กน้อยในด้านการเป็นสมาชิกบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตซึ่งเราได้คะแนนแค่ 3.21

ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว เราได้ค่าคะแนนเพียง 2.72 เพราะดูจากค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลคิดเป็นร้อยละของงบประมาณ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะเรามีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และยังมีนโยบายที่สนับสนุนการท่องเที่ยวที่ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ เช่น เพิ่มวันหยุดแทนที่จะย้ายวันหยุด!

ด้านสาธารณูปโภคการเดินทาง เรามีความอ่อนแอในด้านความหนาแน่น (1.61) และประสิทธิภาพ (3.42) ของการบริการด้านรถไฟ ที่น่าแปลกใจก็คือว่าคะแนนของการบริการด้านการท่องเที่ยวและสาธารณูปโภคด้านการท่องเที่ยวนั้น

ยกเว้นเรื่องห้องพักของโรงแรม เรามีคะแนนค่อนข้างต่ำคือ 2.18 และมีปัญหาในเรื่องความหนาแน่นของการลงทุน ผลิตภาพของแรงงาน (labour productivity) ได้คะแนน 2.03 การให้เช่าที่พักระยะสั้นต่อประชากร 10,000 คนได้คะแนน 1.52

ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เราได้คะแนนพอใช้ได้คือ 3.86 แต่ยังมีจุดอ่อนอยู่ในเรื่องการใช้ภาษาและการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เราได้คะแนนแค่ 2.20 เรามีเมืองระดับโลก (global cities) แค่เมืองเดียวคือ กทม. (2.94)

เรายังมีการใช้การเดินทางและการท่องเที่ยวที่ใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำค่อนข้างน้อย (1.53) มีค่า PM2.5 สูง (2.52) ด้านสิ่งแวดล้อมเรายังมีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเสีย (2.48) และร้อยละของพื้นที่อนุรักษ์ต่ำ (2.59)

ในด้านผลกระทบของการท่องเที่ยว การกระจาย GDP วัดจากตัวทวีคูณค่อนข้างต่ำ (2.67) ตัวทวีคูณด้านการจ้างงานก็ค่อนข้างต่ำมาก (1.00) และสัดส่วนของผู้ใช้แรงงานท่องเที่ยวที่มีค่าแรงสูงยังมีน้อย (3.04) เรื่องนี้ไม่น่าสงสัยเพราะภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวใช้เทคโนโลยีน้อย โดยฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

สุดท้ายก็คือ ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนของดีมานด์ ซึ่งดูจากการจำนวนวันพักซึ่งเราได้คะแนนสูงมากคือ 6.37 แต่ก็ได้คะแนนต่ำในเรื่องของความเป็นฤดูกาลคือ 1.36

นอกจากนี้ก็ยังมีตัวชี้วัด 2-3 ตัวที่มีคะแนนต่ำ แต่ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงอะไรเลยขอข้ามไปก่อน

ข้อดีของการจัดลำดับนี้ก็คือ เป็นการจัดลำดับโดยผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวไทย เป็นการมองแบบ outside-in ซึ่งผู้เกี่ยวข้องก็ควรจะรับไปพิจารณาแล้วเร่งแก้ไข เพราะท่องเที่ยวเป็นเทอร์โบเศรษฐกิจตัวสุดท้ายและตัวเดียวของของไทยอยู่ตอนนี้!!!