สร้างภูมิคุ้มกันชีวิต

สร้างภูมิคุ้มกันชีวิต

ข่าวเยาวชนตัดสินใจจบชีวิตตนเองเนื่องจากถูกโกงเงินจากการซื้อโทรศัพท์มือถือจากช่องทางออนไลน์ และข่าวจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศสัมภาษณ์เหยื่อที่ถูกล่อลวงไปทำงานเป็นแก้งก์คอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน

เล่าให้ฟังถึงวินาทีที่เหยื่อของเขารู้ตัวว่าถูกโกง และร้องขอคืนเงินที่ส่งไปมัดจำเพื่อให้ได้เงินกู้ เพื่อจะเอาไปรักษาแม่ที่ป่วย และเจ้านายเขาสั่งให้ตอบเหยื่อไปทำนองเยาะเย้ยว่า อยากตกหลุม ถูกหลอกง่ายเอง เหยื่อจึงตัดสินใจยิงตัวตายต่อหน้าต่อตาในวิดีโอคอล หรือกรณีหลายปีก่อนที่มีสองสามีภรรยาแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานในเกาหลีใต้ และตัดสินใจทุ่มทุกอย่างเพื่อให้ภรรยาได้กลับเมืองไทย ส่วนสามีก็ไปฆ่าตัวตายเพื่อหนีให้พ้นความทุกข์ยากนั้น

เรื่องราวเหล่านี้ ทำให้ดิฉันเศร้าใจอย่างมาก และอยากเน้นย้ำให้ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้กับเด็กเยาวชน และผู้เปราะบางค่ะ

กรณีการถูกฉ้อโกง เรามีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เรามีสิทธิที่จะฟ้องเพื่อให้ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าเสียหาย สิทธิพื้นฐานต่างๆเหล่านี้ ควรถูกสอนให้กับเยาวชนและประชาชนด้วย ซึ่งสิทธิต่างๆเหล่านี้ทำให้เรามีโอกาสได้เงินคืนบ้าง ไม่มากก็น้อย กรณีถูกหลอกลวงไปใช้งานผิดกฎหมาย เรามีกฎหมายค้ามนุษย์ที่จะเอาผิดกับผู้หลอกลวงได้

ข้อสำคัญที่ต้องยึดมั่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองคือ การเข้าใจว่า“เงินไม่ใช่ทุกอย่าง”  ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนเด็ก หรือประชาชนทั่วไปควรต้องรู้และเข้าใจว่า เงินเป็นเพียงตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เราหาเงินได้ เราก็ใช้เงินได้ เมื่อเงินเราถูกใช้ไป หรือเกิดถูกลักขโมยไป เราก็สามารถหามาใหม่ได้ การสูญเสียเงินไปไม่ได้เป็นเรื่องถึงกับคอขาดบาดตาย

สำหรับผู้หลอกลวงผู้อื่น ต้องคำนึงถึงบาป และควรละอายและเกรงกลัวต่อบาป ลองนึกว่าหากเป็นตัวเราหรือญาติพี่น้องของเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น จะลำบากเพียงใด และหากไม่อยากเป็นเหยื่อถูกใช้งานให้ทำงานลักษณะนี้  ท่านต้องมีภูมิคุ้มกัน หรือเกราะคุ้มกันตนเองเช่นกัน

อยากเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองให้ฟังค่ะ

ดิฉันเองเริ่มต้นทำงานเดือนแรกด้วยเงินที่ติดลบ เพราะได้รับทุนการศึกษา แต่ทางเจ้าของทุนส่งเงินไปให้เป็นงวด งวดละ 6 เดือน แต่ระยะเวลาที่ดิฉันเรียนจบอยู่คาบเกี่ยวครึ่งงวด  ดังนั้นเมื่อเรียนจบจะกลับมา ดิฉันจึงต้องนำเงินมาคืน ระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย ดิฉันไปแวะเที่ยวยุโรปก่อนโดยมีแม่ไปด้วย กระเป๋าถือของแม่ ถูกฉกไปที่อัมสเตอร์ดัม และเงินของดิฉันรวมถึงเงินที่ดิฉันจะต้องเอามาคืนเจ้าของทุน อยู่ในกระเป๋าใบนั้นด้วย เป็นอันหมดเนื้อหมดตัว กลับมาถึงเมืองไทย ดิฉันจึงเริ่มทำงานรับเงินเดือนโดยที่เงินออมติดลบ ต้องยืมเงินพี่สาวใช้จ่ายในช่วงเดือนแรกๆ พร้อมทั้งขอผ่อนใช้เงินที่ต้องคืนกับเจ้าของทุนเป็นเวลาหลายเดือน

ตอนที่เงินถูกฉกไป ดิฉันก็นึกเสียใจและโกรธหัวขโมยกลุ่มนั้น ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพจากยุโรปตะวันออก ดิฉันนึกคร่ำครวญในใจว่า “ทำไมต้องมาขโมยเงินจากเด็กนักเรียนของประเทศกำลังพัฒนาด้วย รู้ไหมว่าเงินก้อนนั้นเยอะมากสำหรับคนที่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน ฯลฯ” ไปแจ้งความกับตำรวจ ซึ่งก็ทราบแล้วว่าไม่มีทางที่จะได้คืน และทริปยุโรปครั้งแรก ก็จบลงตรงนั้น อดเที่ยวเนเธอร์แลนด์ อดเที่ยวสวิส และอดเที่ยวเยอรมนี โดยต้องเลื่อนวันกลับให้เร็วขึ้น และนั่งรถไฟไปเยอรมนีเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย โชคดีที่เพื่อนชาวอเมริกันที่ไปด้วยให้ยืมเงินสด 100 ดอลลาร์  และยังมีบัตรเครดิตที่เป็นบัตรเสริม ให้รูดเพื่อซื้ออาหารรับประทาน และซื้อของใช้ต่างๆ

หลายเดือนต่อมา หลังจากทำงานใช้หนี้เสร็จ ดิฉันก็ให้อภัยโจรกลุ่มนั้น คิดเสียว่า เขาคงเดือดร้อน แต่เขาก็น่าจะทำงานหาเงินเลี้ยงชีพอย่างสุจริต ไม่ใช่มาฉกฉวยโอกาสจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ดิฉันเรียนรู้ว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่าง ความสามารถในการหาเงินต่างหากที่สำคัญกว่า  ตราบใดที่เรายังสามารถทำงานได้ เราไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเงินใช้ และพอเวลาผ่านไป เราก็หาเงินได้มากกว่าที่เราสูญเสียไปหลายร้อยเท่า เราก็สามารถไปเที่ยวประเทศที่เราพลาดไม่ได้ไป อีกหลายสิบครั้ง

เยาวชนหรือประชาชนที่เป็นเหยื่อถูกหลอกลวง หรือแม้กระทั่งกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอลก็เช่นกันค่ะ ดิฉันเห็นหน่วยก้านแล้ว ทุกคนมีความขยัน ตั้งใจทำงาน อยากแนะนำให้รักษาชีวิตไว้ก่อนดีกว่า ตราบใดที่มีความขยัน ย่อมสามารถหาเงินได้อีก แต่ถ้าเราไม่มีชีวิตอยู่ เราก็ไม่สามารถช่วยเหลือครอบครัวเราได้

ภูมิคุ้มกันชีวิตนี้ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พี่ๆ หรือ หัวหน้างาน ต้องเป็นผู้สอนให้กับเยาวชนหรือคนใกล้ตัวค่ะ สอนด้วยการยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ต่างๆรอบๆตัว เป็นวิธีที่ดีที่สุด

แต่ที่สำคัญที่เราควรต้องรีบทำอย่างยิ่งคือ สอนให้ประชากรของเรา เข้าใจเรื่องการเงิน และไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพง่ายๆ ภูมิคุ้มกันที่ต้องให้คือ

  1. ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี อย่างหลงใหลได้ปลื้มกับของแถมโน่น ของแถมนี่ เพราะถ้าเขาไม่ได้อะไรจากเรา เขาไม่มาลงทุน แจกนี่แจกนั่นให้เราหรอกค่ะ
  2. รู้จักขี้สงสัย ต้องเอะใจว่ามันมีความผิดปกติซ่อนอยู่  ถ้ามีใครบังคับให้เอาเงินใส่ในบัญชีก่อน แล้วจึงจะสามารถเบิกใช้เงินกู้ หรือสามารถถอนเงินที่ฝากหรือลงทุนอยู่ได้ แสดงว่าต้องมีการฉ้อโกงเกิดขึ้นแล้ว
  3. อย่าโลภ ความโลภเป็นกิเลส และเมื่อเกิดกิเลสขึ้น เราจะขาดสติ สิ่งที่เราเคยยึดถือเป็นเกราะคุ้มกันในข้อที่หนึ่งและสองข้างบน จะหายไป จงอย่าโลภ อย่าตาโตอยากได้อะไรที่ดีผิดปกติ เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่ดีผิดปกติมักจะเป็นของหลอกลวงค่ะ
  4. สอบถามผู้รู้ก่อนเข้าไปผูกพันในอะไรที่เราไม่คุ้นเคย ไม่แน่ใจ อย่างน้อยก็มีโอกาสหลุดรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
  5. ปรึกษาคนอื่นเพื่อหาทางออกหรือแนวทางแก้ไข หากผิดพลาดไปแล้ว อันนี้สำคัญ โศกนาฏกรรมของเด็กจะไม่เกิดขึ้นถ้าผู้ปกครองรับทราบเหตุการณ์ และเข้ามาช่วยแก้ไข ด้วยแนวคิด “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง” วันนี้เสียไป วันหน้าก็มีโอกาสหาใหม่ และหาได้เยอะกว่าเดิมด้วย
  6. ผู้ปกครอง หรือผู้ให้คำปรึกษา ห้ามซ้ำเติมเหยื่อ หลายครั้งที่เรื่องบานปลาย เพราะผู้รับหน้าที่ให้คำปรึกษา ซ้ำเติมเหยื่อว่า “โง่” หรือ สมน้ำหน้าว่ารู้ไม่เท่าทัน ไม่มีใครอยากเป็นเหยื่อหรอกค่ะ แต่ชีวิตเราผิดพลาดกันได้ และเมื่อผิดไปแล้ว ควรได้โอกาสแก้ไข

ถามว่า การหลอกลวงนี้ เกิดขึ้นไนประเทศอื่นๆบ้างไหม ดิฉันไปหาดู  รู้สึกที่เป็นข่าวจะมีแต่คนไทยทั้งนั้น และมิจฉาชีพก็อยู่ในเมืองไทย หรือประเทศใกล้เคียง และใช้คนไทยเป็นผู้ดำเนินการ เป็นไปได้ไหมว่า คนไทยเปราะบาง และไม่มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดีพอ เพราะไม่มีความรู้ทางการเงิน!!!!!

หากรู้จักบาปบุญคุณโทษ ประชาชนของเราต้องเกรงกลัวต่อบาป และไม่ทำในสิ่งที่เป็นการหลอกลวงผู้อื่นเช่นนี้ ที่สำคัญ ดิฉันเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องมีประสิทธิภาพ และบทลงโทษผู้ที่ฉ้อโกง หลอกลวงผู้อื่น ต้องหนัก โดยเฉพาะผู้เป็นต้นตอ ต้องทำให้คนกลัว ไม่กล้าทำการหลอกลวงผู้อื่น

ขอให้ที่ผ่านมาเป็นกรณีสุดท้าย