สทนช.ปรับแผน ลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร่งพร่องน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

สทนช.ปรับแผน ลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร่งพร่องน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

สทนช.ถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ปรับแผนเชิงรุกวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ปรับการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาหลังแนวโน้มฝนลดลง ส่วนลุ่มน้ำชี-มูล เพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ พร่องน้ำรับฝนตกหนักช่วงปลายฤดู ย้ำไม่กระทบประชาชน

ในการประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำ ครั้งที่ 4/2567 ที่มีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นายสุรสีห์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงมีอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางและหย่อมความกดอากาศต่ำ จึงทำให้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ แต่มีแนวโน้มลดลงไปจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2567 โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะเดียวกันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางล่าสุด ยังมีปริมาณน้ำไม่มากนัก โดยปริมาณน้ำรวมกันทั้งประเทศอยู่ที่ 41,417 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 51% ของปริมาณการกักเก็บ และยังสามารถรับรองน้ำได้อีก 39,145 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นหากฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนจะเป็นผลดีที่จะมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพิ่มขึ้น

สทนช.ปรับแผน ลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร่งพร่องน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

สำหรับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ขณะนี้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 9,795 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39% ของปริมาณการกักเก็บ และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 15,076 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลง เพื่อกักเก็บน้ำไว้สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ประกอบกับปริมาณฝนในช่วงนี้มีแนวโน้มลดลง 

ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบจากระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กรมชลประทานปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาลงจาก 800 ลบ.ม./วินาที เหลือ 750 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งให้กรมชลประทานพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกมากขึ้น ลดปริมาณน้ำที่จะผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 

สทนช.ปรับแผน ลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร่งพร่องน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย กฟผ.และกรมชลประทาน ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในปีนี้ว่า มีแนวโน้มที่น้ำจะเต็มเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จึงขอเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนจากปัจจุบัน 15 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็นไม่เกิน 20 ล้าน ลบ.ม./วัน จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อที่จะให้เขื่อนสามารถรองรับน้ำในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝนที่จะมีฝนตกหนักได้มากขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน เนื่องจากระดับน้ำในลำน้ำพองและลำน้ำชียังต่ำกว่าตลิ่งอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้กำชับให้วางแผนบริหารจัดการน้ำให้รัดกุมครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ หากมีฝนตกหนักในพื้นที่ท้ายเขื่อนจะต้องปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนตลอดลำน้ำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้มีการใช้กลไกเร่งแก้ไขและคลี่คลายปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดตราดและจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งถือเป็นตัวอย่างในการทำงานเชิงบูรณาการที่เป็นรูปธรรม  พร้อมทั้ง ยังได้เตรียมเชิญกรรมการในหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมลงพื้นที่ประชุมและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อร่วมประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์จากข้อมูลในพื้นที่จริง โดยมีแผนจะจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ก่อนเกิดภัยในพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดสุโขทัย  ภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานี  และภาคใต้ที่จังหวัดยะลา

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ฝนนั้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 9% แต่เฉพาะในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 13% โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 18% และแนวโน้มในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2567 จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และอาจจะมีพายุพาดผ่านประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และปรับเปลี่ยนแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยจะต้องรายงานให้ สทนช. รับทราบทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง

สทนช.ปรับแผน ลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร่งพร่องน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

“สทนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด และที่สำคัญจะต้องปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเร่งเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายภาคประชาชน ตลอดจนการดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยปีนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” เลขาธิการ สทนช. ระบุ