วิกฤติคนเร่ร่อน!

วิกฤติคนเร่ร่อน!

หนึ่งในคดีสะเทือนขวัญที่เพิ่งเกิดขึ้น คือ การพบศพคนเก็บของเก่า ซึ่งหลายคนอาจมองว่าพวกเขาเป็นคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งพิง

คดีนี้มีคนเก็บของเก่าถูกฆาตกรรมในลักษณะเดียวกัน คือถูกมัดมือไพล่หลัง ใช้ของมีคมแทงและปาดคอถึง 3 ศพ เหตุเกิดที่ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

การฆาตกรรม 3 ศพไม่ได้เกิดขึ้นในคราวเดียว แต่แยกเป็น 2 คดี คดีแรก 2 ศพชายกับหญิง คดีหลังอีก 1 ศพเป็นผู้ชาย ระยะเวลาเกิดเหตุห่างกันเพียง 2 วัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าคนร้ายรายนี้อาจเป็นฆาตกรต่อเนื่อง

แต่ นพ.สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า จากพฤติการณ์ของคนร้ายจนถึงขณะนี้ ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่อง

 พร้อมอธิบายว่า การฆ่าคน ไม่ว่าจะเป็นฆาตกรธรรมดา หรือฆาตกรต่อเนื่อง มักจะเลือกใช้วิธีที่ตนเองถนัดที่สุด แต่หากเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจพยานหลักฐานก็จะสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ทั้งประเด็นวิธีการฆ่า อาวุธที่ใช้ แม้จะต่างสถานที่และเวลา ซึ่งการเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ไม่ได้หมายความว่าต้องก่อเหตุทุกวัน แต่อาจเว้นไปนานๆ แล้วก่อเหตุซ้ำก็เป็นได้

การอยากฆ่าคนของพวกฆาตกรต่อเนื่อง คือปัญหาทางสุขภาพจิตที่หักห้ามตัวเองไม่ได้เมื่อเจอแรงกระตุ้นบางอย่าง เช่น เคยมีคดีในอดีตว่า ฆาตกรต่อเนื่องคนหนึ่งชอบฆ่า รปภ.ตอนหลับยาม หากเจอก็จะลงมือทันที

สำหรับวิธีการที่เลือกใช้ฆ่า อาจจะมีมากกว่า 1 วิธี แล้วแต่ความถนัด และทักษะเดิมที่เคยมี อย่างเช่น คดีนายติ๊งต่าง ที่ลวงเด็กหญิงไปกระทำอนาจารแล้วฆ่า ก็มีทักษะหลอกล่อเด็ก เป็นต้น

คดีที่เกิดขึ้นนี้ ยังมีอีกประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ควรมองข้ามก็คือ ประเด็นของ “คนเร่ร่อน-คนไร้บ้าน” ที่หลายคนมองว่าเป็นกลุ่มคนอันตราย

แต่ข้อมูลที่รวบรวมมาจากโครงการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ของมูลนิธิกระจกเงา พบความจริงที่แตกต่างออกไป...

อันดับแรก คือก่อนที่คนคนหนึ่งจะกลายมาเป็นคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อน แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ร้อยละ 80-90 สามารถสืบหาตัวตนและภูมิลำเนาได้ แต่เหตุผลที่สุดท้ายกลายมาเป็นคนไร้บ้าน คนเร่ร่อนคือ ปัยหาเรื่องงาน เช่น ไม่มีงานทำ ตกงาน ถูกไล่ออก กลุ่มนี้สูงที่สุดถึงร้อยละ 25.9 รองลงมาคือ ความพิการ ร้อยละ 25.6 ความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 18.7 พ่อแม่เสียชีวิต ร้อยละ 11.1 และที่ทำกินถูกยึด ร้อยละ 7.1

คนไร้บ้านหนึ่งคนอาจจะประสบปัญหาหลายๆ อย่างรวมกันก็ได้

ช่วงอายุของคนไร้บ้าน หรือคนเร่ร่อน ส่วนใหญ่แล้วจากการสำรวจเป็นคนที่มีอายุ 40-59 ปี สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 49 รองลงมาคือช่วงอายุ 19-39 ปี สัดส่วนร้อยละ 27 และอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20

หลายคนเข้าใจว่าคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน เป็นพวกอันตรายไม่มีงานทำ แต่ความเป็นจริงแล้ว คนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่มีงานทำ โดยร้อยละ 45 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 24 หาของเก่า ร้อยละ 14 ค้าขาย มีเพียงร้อยละ 17 ที่ไม่มีรายได้หรือไม่ประกอบอาชีพอะไรเลย

อย่างไรก็ดี รายได้ของคนเร่ร่อนไม่มากพอที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิต หรือสะสมเงินทองได้

ส่วนประเด็นที่พูดกันมากในขณะนี้ คือ คนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม ทั้งยังมีปัญหาทางสุขภาพจิตนั้น สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา บอกว่า ธรรมชาติของคนไร้บ้านมักไม่อยากทำตัวเองให้ลำบากมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงหลีกเลี่ยงที่จะก่ออาชญากรรม ฉะนั้นมีคนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไม่มากนัก และโดยมากเป็นเพียงอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ หรือทะเลาะในกลุ่มกันเอง สำหรับผู้ที่ป่วยทางจิตเวชก็มีสัดส่วนพอๆ กับคนทั่วไป

งามจิต แต้สุวรรณ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานและคนไร้ที่พึ่ง ในฐานะผู้อำนวยการบ้านมิตรไมตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บอกว่า ปัญหาที่พบในกลุ่มคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งมีจำนวนคนเร่ร่อนราว 3,311 คน ก็คือจำนวนนี้มีบุคคลที่ป่วยทางจิตอยู่จำนวนหนึ่ง พวกเขาต้องได้รับการรักษา แต่อุปสรรคในการแก้ปัญหาคือการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างยากลำบาก

ขณะนี้ พม.จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปยัง 10 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลและสร้างความไว้ใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนเร่ร่อนเพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์

และในวันนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดโครงการ Homeless Day โดยเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่จัดระเบียบบุคคลไร้ที่พึ่ง หรือคนเร่ร่อนทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย