กรมประมงแจงความคืบหน้าสั่งปิดบัญชี 'หมอสีคางดำ'
กรมประมงแจงความคืบหน้า หลังเดินหน้าสั่งปิดบัญชี “หมอสีคางดำ” เผยไม่ได้นิ่งนอนใจ ปลาชนิดนี้สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร
จากกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับข้อร้องเรียนว่าเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร จากกรณีดังกล่าวกรมประมงไม่ได้นิ่งนอนใจหลังทราบปัญหาก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมาโดยตลอด
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำส่งผลกระทบกับเกษตรกรและระบบนิเวศของประเทศอย่างมาก เนื่องจากปลาชนิดดังกล่าวเป็นสัตว์ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและสามารถเจริญเติบโตได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จากปัญหาดังกล่าว
กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบหาแหล่งที่มาการหลุดรอดของปลาหมอสีคางดำ และได้ดำเนินการกำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยทางกรมประมงได้ออกคำสั่งที่ 223/2561 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำโดยเฉพาะ นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดที่พบมีการแพร่ระบาด กรมประมงได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นของเกษตรกรชาวประมงและชุมชนเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ปัจจุบัน
กรมประมงได้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ โดยมีแนวทาง ดังนี้
• กำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสงค์กำจัดปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยง
• ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองที่เป็นผู้ล่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลากะพงขาว และ
ปลาอีกง เพื่อควบคุมประชากรปลาหมอสีคางดำ อีกทั้งหาแนวทางในการกำจัดปลาหมอสี
คางดำให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำมาทำปุ๋ย หรือทำเป็นอาหารสัตว์น้ำ ฯลฯ
• จัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการวิจัยเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางและวิธีการควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำ ทั้งในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น การศึกษาประสิทธิภาพเครื่องมือประมงในการกำจัดปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยงเกษตรกร ศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองที่เหมาะสมในการล่าเพื่อควบคุมประชากรปลาหมอสีคางดำ เป็นต้น
• ขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศในแหล่งน้ำ ประกอบด้วยกิจกรรมการรับซื้อเพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำออกจากวงจรบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติและการสนับสนุนกากชาเพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำที่หลงเหลือในบ่อเลี้ยงเพื่อมิให้แพร่ขยายพันธุ์ได้อีก
• นำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศ ฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2561
มีสาระสำคัญกำหนดห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศ ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ทั้งนี้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกรณีดังกล่าวจะไม่หมายความรวมถึงกรณีที่ มีปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ จากธรรมชาติ หลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงโดยไม่เจตนา โดย ประกาศฉบับดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา
• ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ในเรื่องผลกระทบและวิธีการเลี้ยงเพื่อป้องกันการหลุดรอดของปลาหมอสีคางดำ รวมถึงสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำพื้นเมือง
นอกจากแนวทางในการกำจัดปลาหมอสีคางดำตามที่กล่าวข้างต้น ในด้านการพิจารณานำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นในภาพรวมทั้งหมด กรมประมงยังมีคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (IBC) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอีกด้วย เพื่อป้องกันมิให้กระทบกับระบบนิเวศของแหล่งน้ำ ทั้งนี้กรมประมงได้มีนโยบายกำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำของกรมประมงทั่วประเทศสกัดกั้นทุกช่องทางการขนส่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ทั้งทางเรือ ทางบก รวมทั้งทางอากาศ มิให้มีการลักลอบนำสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามาในราชอาณาจักร โดยให้ปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
สำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืน ลักลอบนำปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ) และไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว โปรดอย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งท่านอาจมีความผิดตามกฎหมาย ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำต่างถิ่นมามอบให้กับทางกรมประมง
หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของประเทศต่อไป