พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทย
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทย
สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย มีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะบทบาทการเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ เป็นผู้นำในการปกครอง ปกป้องประเทศจากอริราชศัตรู ตามคติความเชื่อแบบเทวราชาที่ตกทอดมาตั้งแต่โบราณ ตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่รับเข้ามาในราชสำนักนั้น
ฐานะของพระมหากษัตริย์ยกย่องให้เป็นดั่งสมมติเทพ อันหมายถึง พระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะหรือพระอิศวร อีกทั้งสถาบันกษัตริย์มีความใกล้ชิดกับผู้คนด้วย ดั่งเห็นได้จากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของผู้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระราชพิธีหนึ่ง ในการเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุขในวโรกาสที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นสิริมงคล เป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมือง
รูปแบบการขึ้นครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีนั้น มีด้วยกัน 5 ประการ คือ
'อินทราภิเษก' หมายถึง พระอินทร์ นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้า มาถวายพร้อมด้วยพระพิชัยราชรถและฉัตรทิพย์ เสมือนพระอินทร์ทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์
‘โภคาภิเษก’ คือ การขึ้นเป็นกษัตริย์ของผู้มีชาติตระกูลพราหมณ์ที่บริบูรณ์ด้วย โภไคยไอศุริยสมบัติ สามารถปกครองประชาราษฎร์ด้วยความผาสุก
‘ปราบดาภิเษก’ คือ การมีชัยชนะเหนืออริราชศัตรู สร้างความเป็นปึกแผ่นในชาติ
‘ราชาภิเษก’ คือ การสืบราชสันติวงศ์ตามพระราชประเพณี
และ ‘อุภิเษก’ คือ การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จากงานมงคลวิวาหะอุภิเษก โดย
สมเด็จพระราชบิดา พระราชมารดา ทั้ง 2 ฝ่าย แล้วให้ขึ้นปกครองบ้านเมือง
พระราชพิธีราชาภิเษกของไทยนั้น มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ดังหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาทิ จารึกวัดศรีชุม จารึกวัดป่ามะม่วง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คำให้การชาวกรุงเก่า วรรณคดีเรื่องโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ) เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์
ต่อมา ข้อมูลได้สูญหายไปเป็นอันมากเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 และมีการรวบรวมตำราขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อถึงคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมรายละเอียดขั้นตอนของพระราชพิธีดังกล่าว เมื่อปีพ.ศ. 2326 เรียบเรียงเป็นตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ในปีพ.ศ. 2328 และยึดถือปฏิบัติเป็นแบบแผน สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังทำให้ทราบถึงขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยอยุธยาอีกด้วย
ที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชพิธีนี้มาแล้ว 11 ครั้ง ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จำนวน 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 1 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวน 1 ครั้ง
สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง เนื่องจากครั้งแรกมิได้ประกอบพระราชพิธีตามแบบแผนโบราณราชประเพณี เพราะบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม จึงโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีดังกล่าวอีกครั้ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1 เมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดเสด็จเลียบพระนครและงานรื่นเริงต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อถวายพระบรมศพแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ในปีถัดมา
การนี้ ทรงเชิญพระราชอาคันตุกะ ได้แก่ ผู้แทนพระมหากษัตริย์จากประเทศแถบยุโรป อัครราชทูตพิเศษ ผู้แทนประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและผู้แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น
มีเพียงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระองค์เดียว ที่ไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงมีพระชนมายุ 9 พรรษา จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงศึกษาที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และเสด็จสวรรคตเสียก่อน
ภาพ : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จังหวัดเชียงใหม่