ลุ้นทั่วโลก! เผยภาพหลุมดำครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ทั่วโลกจดจ่อรอลุ้นคณะนักดาราศาสตร์ยุโรป เตรียมแถลงข่าวสำคัญเกี่ยวกับหลุมดำคืน 10 เม.ย. ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยภาพถ่ายหลุมดำครั้งแรกในประวัติศาสตร์
องค์การแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยทางดาราศาสตร์ในท้องฟ้าซีกใต้ (อีเอสโอ) ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ในวันที่ 10 เม.ย. เวลา 20:00 น. ตามเวลาประเทศไทย จะแถลงข่าวเกี่ยวกับ “ผลการศึกษาครั้งสำคัญ” จากโครงการกล้องโทรทรรศน์ “อีเอชที” ซึ่งศึกษาหลุมดำโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุในช่วงความถี่สูงตั้งแต่ 230 GHz ขึ้นไป
บรรดานักดาราศาสตร์คาดกันว่า จะมีการเผยแพร่ภาพถ่ายหลุมดำขนาดมหึมาใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ โดยปกติแล้ว ภาพของหลุมดำที่พบเห็นในปัจจุบันจะเป็นภาพที่ถูกจำลองด้วยคอมพิวเตอร์
กล้องโทรทรรศน์อีเอชทีทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวอื่นจากทั่วโลก โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า วีแอลบีไอ (Very Long Baseline Interferometry) ทำให้ได้ความละเอียดของภาพเทียบเท่ากับกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดหน้าจานใหญ่เท่ากับโลกทั้งใบ
ข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ระบุว่า หลุมดำมหึมาใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกอยู่ห่างจากโลกราว 26,000 ปีแสง (ราว 2.46 แสนล้านล้านกิโลเมตร) และหลุมดำอีกแห่งหนึ่งอยู่ในกาแล็กซีชื่อว่า “เอ็ม87” (M87)
หมายเหตุ: รูปประกอบข่าวเป็นภาพจำลองจากคอมพิวเตอร์