กฟผ.จ่อซื้อ CPO อีก 1 แสนตันป้อนรฟ.บางปะกง
กฟผ.เตรียมส่งแผนดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบล็อตใหม่อีก 1 แสนตัน ให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาในเร็วๆนี้ ใช้ป้อนเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าบางปะกง พร้อมอัดงบ 230 ล้านบาท หนุน สทน. ศึกษาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ต่อยอดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเสนอแผนดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) อีก 1 แสนตัน ให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาในเร็วๆนี้ โดยการดูดซับ CPO ดังกล่าว จะใช้แนวทางเดิมคือ นำไปป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าร่วมกับเชื้อก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าบางปะกง แต่ราคารับซื้อ CPO จากเกษตรกร ในรอบใหม่นี้ จะเป็นราคาที่สะท้อนการซื้อขายในตลาด ณ ขณะนั้น ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรการในล็อตแรก ที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้ซื้อCPO ปริมาณ 1.6 แสนตัน ในราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม โดยหากภาครัฐเห็นชอบแนวทางดังกล่าว กฟผ.ก็พร้อมดำเนินการซื้อ CPO ในทันที และนำไปจัดเก็บที่คลังสุราษฎ์ธานี
“กฟผ.มองว่า การนำCPO ไปปั่นไฟที่โรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นแนวทางที่ผ่านการพิจารณามาดีแล้ว และโรงไฟฟ้าบางปะกง ก็มีเทคโนโลยีพร้อมอยู่แล้ว สามารถปั่นไฟต่อเนื่องจากการซื้อCPO ในครั้งแรก1.6 แสนตันที่คาดว่าจะใช้ได้หมดในต้นเดือนมิ.ย.นี้ได้ทันที”
ส่วนราคารับซื้อ CPO ล็อตใหม่ 1 แสนตันนั้น แม้ว่าจะเป็นราคาตลาด แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นการชี้นำให้ราคาปาล์มในอนาคตปรับสูงขึ้นได้ เพราะ กฟผ.จะใช้แนวทางจัดซื้อล็อตใหญ่ เพื่อเป็นการกระตุ้นราคา เช่นเดียวกับการซื้อ CPO เที่ยวเดียว 66,000 ตัน เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา และส่งผลให้ราคาปาล์ม ในสัปดาห์นี้ขึ้นไปแตะ 2.40-2.50 บาทต่อโลกรัม จากสัปดาห์ก่อนต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการในการเข้าซื้อ CPO ล็อตใหม่ 1 แสนตันนั้น คาดว่าจะลดลงจากล็อตแรกที่ซื้อปริมาณ 1.6 แสนตัน เนื่องจากมีปริมาณน้อยกว่า และราคารับซื้อปาล์มดิบไม่ได้ถูกกำหนดไว้ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม แต่เป็นราคาตลาด ซึ่งมีแนวโน้มถูกลง โดยงบประมาณในการจัดซื้อนั้น จะเป็นตามรูปแบบเดิม คือ ส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะใช้งบประมาณกลาง ที่เป็นงบส่งเสริมการส่งออกปาล์มน้ำมัน ชดเชยเงินให้กับ กฟผ. ส่วนหนึ่ง และอีกส่วน กฟผ.จะไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อให้ใช้ในรูปแบบรายจ่ายเพื่อสังคมของ กฟผ. มาดำเนินการ
อนึ่ง การจัดซื้อCPO ล็อตแรกปริมาณ 1.6 แสนตัน เพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง กฟผ. ประเมินว่าจะต้องใช้วงเงินราว 2,880 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงกว่าปกติเป็นเงิน 1,354 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณกลาง ที่เป็นงบส่งเสริมการส่งออกปาล์มน้ำมัน จำนวน 525 ล้านบาท ชดเชยเงินให้กับ กฟผ. ส่วนที่เหลืออีก 829 ล้านบาท กฟผ.จะไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อให้ใช้ในรูปแบบรายจ่ายเพื่อสังคมของ กฟผ. มาดำเนินการ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กฟผ. ไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ในการดูดซับ CPO อีก 1 แสนตัน ตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.) มานำเสนอในเร็วๆนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาสต็อก CPO ปีนี้ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3 ล้านตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย ปตท.อาจจะพิจารณาการส่งออกในรูปของ บี100 และ กฟผ.อาจดูถึงความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม เป็นต้น
วันนี้(24เม.ย.) กฟผ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ร่วมกับนายพรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ สทน. เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชั่น โดยกฟผ.ได้สนับสนุนงบประมาณ 230 ล้านบาท ในการศึกษาองค์ความรู้เทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เพื่อหวังว่าจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยุคใหม่ ในอีก 40-50 ปีข้างหน้า โดย MOU ดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี(2562-2566) เพื่อศึกษาองค์ความรู้ก่อนออกแบบเทคโนโลยีพลาสมา และก่อนต่อยอดเป็นฟิวชันในระยะต่อไป