มติผู้ตรวจฯส่งศาลรธน. ตีความสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" มีมติเอกฉันท์ มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ที่กำหนดวิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อาจมีปัญหา จึงให้ส่งศาลฯ วินิจฉัย
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.62 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการพิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้สมัครส.ส.เขต 3 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาในการเลือกตั้งหลายประเด็น โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 128 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 โดยเห็นว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 มีการกำหนดวิธีการคำนวนไว้ 5 อนุมาตรา แต่เมื่อมาบัญญัติเป็นพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กลับมีการขยายเพิ่มเป็น 8 อนุมาตรา โดยอนุ 4 อนุ 6 และอนุ 7ขยายข้อความนอกเหนือมาตรา 91 ที่ระบุส.ส.พึงมีเบื้องต้น ทำให้การคำนวณส.ส.ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จึงให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งทางสำนักงานฯจะพยายามยกร่างคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จและส่งให้ได้ภายในวันนี้ หรืออย่างช้าภายในวันที่ 29 เม.ย.
ทั้งนี้ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผูกพันกันองค์กรอื่น แต่กกต.อาจใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา หรือจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นอิสระ โดยผู้ตรวจฯไม่ต้องทำหนังสือเสนอแนะไปยังกกต. ส่วนการพิจารณาของศาลจะมีผลอาจทำให้กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ทันวันที่ 9 พ.ค.หรือไม่ไม่ทราบ เพราะผู้ตรวจฯจะพิจารณาเฉพาะว่าองค์กรมีหน้าที่ต้องปฎิบัติอย่างไร
นอกจากนี้ ในประเด็นขอให้วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91(4) และมาตรา 91(4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 83(2) ซึ่งทั้ง 3 บทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยุติคำร้องเนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจพิจารณากรณีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขัดกันเอง
ส่วนกรณีร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากประเด็นจำนวนรายงานผลนับคะแนนไม่ตรงกัน มีปัญหาคลาดเคลื่อนบัตรเขย่ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนบัตรแตกต่างกันอยู่ 9 ใบ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า เป็นการแถลงข่าวจำนวนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้น จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่สุจริต ขณะที่ประเด็นการไม่นำบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์มานับรวม กกต.ก็ได้มีการวินิจฉัยตามข้อกฎหมายซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ส่วนที่ร้องว่าไม่มีการแจ้งผลคะแนนให้ประชาชนได้รับทราบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในทางปฏิบัติกกต.แจ้งว่ามีการติดประกาศที่หน้าหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้วประชาชนสามารถไปตรวจสอบได้ สำหรับประเด็นที่ร้องว่า นำบุคคลที่ไม่มีสัญชาติมารวมในการคิดคำนวนแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการประกาศเขตเลือกตั้งให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งหมดทั่วประเทศมาคำนวณอาจจะมีทั้งที่เป็นคนไทยและผู้มีสัญชาติไทย เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่มีขนาดแค่ไหน ควรมีส.ส.กี่คน การดำเนินการส่วนนี้ของกกต.ถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย จึงมีมติเอกฉันท์ว่าประเด็นเหล่านี้ยังไม่เข้าข่ายการเลือกตั้งไม่สุจริต จึงยุติเรื่องไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะตามที่ยื่นคำร้อง