'60 สนช.' รับคำยืนยันเป็น 'ส.ว.' จ่อไขก๊อกพร้อมกัน 8-9 พ.ค.นี้
"พีระศักดิ์" เผย 60 สนช. รับคำยืนยันเป็น "ส.ว." จ่อไขก๊อกพร้อมกัน 8-9 พ.ค.นี้ มั่นใจการทำงานร่วมส.ส.ไร้ปัญหา
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวยืนยันต่อการได้รับคัดเลือกให้เสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งและเตรียมนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ วันที่ 10 พฤษภาคม พร้อมระบุด้วยว่ามีสมาชิก สนช. ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. อีกกว่า 60 คน อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. , นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง , นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. , นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง , นายตวง อันทะไชย และ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นต้น ทั้งนี้สมาชิก สนช. ที่ได้รับเลือกหารือเบื้องต้นว่าจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สนช. ต่อเลขาธิการวุฒิสภาพร้อมกันช่วงวันที่ 8 -9 พฤษภาคมนี้
นายพีระศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับการทำงานในรัฐสภาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะมีปัญหาเพราะเป็นคนละขั้วการเมือง ตนเชื่อว่าส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งและสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และเชื่อว่าจะทุกฝ่ายต้องการให้การทำงานร่วมกันเดินหน้าไปได้ ส่วนวาระแรกที่ส.ว.ใหม่และ ส.ส.ใหม่จะประชุมร่วมกันนัดแรก คือการลงมติเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ นั้น ต้องให้สิทธิส.ส.รวมเสียงข้างมากให้ได้ก่อน ทั้งนี้ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองคงเคารพกติกา
ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ปฏิเสธที่จะให้คำยืนยันต่อการได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ส.ว. โดยระบุเพียงว่าต้องรอการโปรดเกล้าฯ อย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ โดยทิศทางของตนหลังจากนี้ต้องรอรายละเอียดอีกครั้ง
เมื่อถามว่าการทำงานระหว่างส.ว.ใหม่ กับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจะราบรื่นหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ไม่น่ามีปัญหา"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุม สนช. นัดพิเศษ วันที่ 7 พฤษภาคม เพื่อพิจารณาการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายที่บังคับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายในทิศทางเดียวกันนั้น เป็นการประชุมนัดสุดท้าย โดยก่อนการประชุมนายพรเพชร นำคณะสนช. กล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมกล่าวปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมฉายาลักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และถวายความจงรักภักดี
โดยหลังจากการประชุมนัดนี้ สนช. จะไม่มีการนัดประชุมใดๆ และรอการประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อรับรองความเป็น ส.ส. ขณะที่การประชุมกรรมาธิการสามัญ เป็นดุลยพินิจของประธานกรรมาธิการฯ ที่จะพิจารณาา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเก็บรายละเอียดและงานที่ได้ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ไม่พบการประกาศการลาออกของ สนช. ที่ได้ยื่นใบลาออกแต่อย่างใด.