ขจัดความยากจน ข้ามชั่วคนด้วยความเสมอภาคการศึกษา
“ประสาร” ชี้ขจัดความยากจนข้ามชั่วคนด้วยความเสมอภาคทางการศึกษา เริ่มดูแลตั้งแต่แรกเกิดไปถึงวัยทำงาน อนาคตวางโครงการทุนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ปีละ 300 คน ต่อเนื่อง 5 ปี
วันนี้ (25 พ.ค.) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยในงานแถลงผลงาน "กอปศ. รายงานประชาชน 2 ปีปฏิรูปการศึกษาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน" ว่า 9 เดือนที่ผ่านมา กสศ. ได้เริ่มดำเนินการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยพุ่งเป้าไปที่การดูแลประชากรกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่แรกเกิด อันเป็นช่วงวัยพื้นฐานสำคัญ ไปจนถึงวัยทำงาน เพื่อให้สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะความยากจน ซึ่งหากแก้ไม่ได้ ปัญหานี้จะส่งทอดวนเวียนไปข้ามชั่วคน จากพ่อแม่ ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกได้เพราะมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่างกัน
ดร.ประสาร กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการทำงานของ กสศ.ให้สำเร็จ เป็นสิ่งที่ต้องรู้จักเลือกจังหวะเวลาในการทำงานให้เป็น ต้องมีความชัดเจนว่า ต้องทำอะไรเมื่อไหร่ อย่างไร และมีทักษะในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงยืดหยุ่นเท่าทันกับปัญหา รวมทั้งสามารถสร้างแนวร่วมหุ้นส่วนความสำเร็จเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาในทุกระดับให้ได้ แม้ว่ากรอบภารกิจของ กสศ. จะค่อนข้างกว้างขวางครอบคลุมประชากรมากกว่า 4 ล้านคน หลายช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยทำงาน รวมทั้งการสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาในพื้นที่ยากลำบาก แต่ภารกิจที่ กสศ. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดคือภารกิจด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการค้นหากลุ่มเป้าหมายให้แม่นยำ และติดตามประเมินผลเพื่อนำกลับมาพัฒนาระบบงานให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบ iSEE และระบบคัดกรองนักเรียนยากจน
ดร.ประสาร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของภารกิจช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนในครอบครัวผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ.ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการให้ทุน แต่ยังได้หามาตรการในการเข้าไปแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น การให้เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขเป็นรายบุคคลที่ตรงกับความจำเป็นของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง (Demand-side Financing) และมีการติดตามผลการมาเรียนและน้ำหนักส่วนสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งใน ปีการศึกษา 2561 กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ ไปแล้ว กว่า 5.1 แสนคน ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 26,557 แห่งทั่วประเทศ เตรียมขยายผลสู่นักเรียนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนทุนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในรูปแบบของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมกับ 36 สถานศึกษาสายอาชีพ สร้างโอกาสให้เยาวชนจาก ครัวเรือนที่ยากจนได้เรียนต่อในสายอาชีพชั้นสูง จำนวน 2,107 คน ในปีการศึกษา 2562 และช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนสถาบันการศึกษาสายอาชีพให้มีสมรรถนะ และทักษะอาชีพ ตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น
"นอกจากนี้ในอนาคต จะริเริ่มโครงการทุนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ปีละ 300 คน ต่อเนื่อง 5 ปี และเตรียมสร้างสถาบันต้นแบบด้านการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 300 แห่งทั่วประเทศ สร้างระะบบตัวอย่างในการช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาครบวงจร เบื้องต้นสามารถช่วยเหลือได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คนในการดำเนินงานในปีแรกและเริ่มดำเนินการแล้วในบางพื้นที่ของกทม.ผ่านความร่วมมือจากหลากหลายองค์กร รวมถึงโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ" ดร.ประสาร กล่าว
ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. ยังกล่าวอีกว่า ตลอด 2 ปีที่ได้ร่วมงานกับ กอปศ. และผลักดันการจัดตั้ง กสศ. ให้เกิดขึ้นได้ทำให้เห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับภาคส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่งานที่มีจุดเริ่ม และจุดจบที่ชัดเจน การจะตั้งเป้าหมายการทำงานดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จให้ได้ 100% ทันทีโดยลำพังคงเป็นไปได้ยาก แต่เราต้องอาศัยภาคีเครือข่ายมาสนับสนุนการทำงาน เพื่อสร้างความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้สานต่อการทำงานให้มีความต่อเนื่องจนเกิดความสำเร็จได้จริงในระยะยาวต่อไป.