‘บึ้มเรือน้ำมัน’ส่อช็อกตลาดพลังงานโลก
การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำซึ่งประกอบด้วยเรือของญี่ปุ่นและนอร์เวย์ ในอ่าวโอมานใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซเมื่อวันพฤหัสบดี (13 มิ.ย.) ยิ่งตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะช็อกในตลาดน้ำมันโลกรอบที่ 3
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว วิเคราะห์ว่า ภาวะช็อก 2 รอบแรกเกิดขึ้นช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันทะยานและสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดขาดตลาด และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อบรรดาผู้นำเข้า
ปัจจุบัน ความเสี่ยงดังกล่าวสูงขึ้นน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางทำหน้าที่สนับสนุนห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ทั้งหมดของบรรดาผู้ผลิตในเอเชีย หากท่อน้ำเลี้ยงของ "ห้องเครื่องโลก" ถูกตัดขาดภาวะปั่นป่วนอาจจะลุกลามไปถึงตลาดเงินในตะวันตกจนเกิดวิกฤติไปทั่วโลก
เครือข่ายการผลิตของเอเชีย ซึ่งมีจีนเป็นศูนย์กลาง กลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมที่ไม่มีภูมิภาคใดในโลกแทนที่ได้ แต่เครือข่ายนี้ขับเคลื่อนโดยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองมากที่สุดในโลก
ความเปราะบางของเครือข่ายอุตสาหกรรมเอเชียมีบทบาทชัดเจนขึ้นเนื่องจากสหรัฐหันมาพึ่งพาตัวเองและปลีกตัวจากโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลวอชิงตันได้ปรับลดพันธกรณีเชิงยุทธศาสตร์ของตนที่มีต่อตะวันออกกลางลง
ในขณะที่การปฏิวัติหินดินดานที่นำมาซึ่งการเจาะชั้นหินด้วยแรงดันน้ำและการขุดเจาะวางท่อใต้ดินในแนวราบโดยไม่เปิดหน้าดิน ทำให้สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันและก๊าซภายในประเทศเพิ่มขึ้น และอาจทำให้วอชิงตันมีความทะเยอทะยานน้อยลงที่จะปกป้องเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศและรับประกันเสถียรภาพในตะวันออกกลาง
ญี่ปุ่น มีแผลเป็นจากภาวะช็อกในตลาดน้ำมัน 2 ครั้งก่อน และมองว่าการสูญเสียอุปทานน้ำมันเป็นความเสี่ยงใหญ่สำหรับเศรษฐกิจของตน และแม้ว่าความเสี่ยงน้ำมันจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจร้ายแรงกว่า
ในขณะที่เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในไทยเมื่อปี 2554 สร้างความปั่นป่วนต่อซัพพลายเชนของผู้ผลิตญี่ปุ่น แต่ความเสี่ยงแฝงซ่อนตัวอยู่ในสภาวะตึงเครียดในปัจจุบัน หากโรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบปัญหา เช่นไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือปิดการผลิต บรรดาผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์และนักการตลาดในเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
“แม้ว่าเครือข่ายอุตสาหกรรมอันกว้างขวางของเอเชียถูกสร้างขึ้นในศตวรรษนี้ แต่ยังไม่เคยถูกทดสอบภูมิต้านทานจากภาวะช็อกในตลาดน้ำมันครั้งใหญ่” นิกเกอิระบุ
ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์จากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส)ของสหรัฐ มองว่า การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวโอมาน สร้างความตื่นตระหนกรอบใหม่เกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังจากเกิดการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันหลายระลอกเมื่อเดือนที่แล้ว
“เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นในทันที” แอนโธนี คอร์ดสแมน นักวิเคราะห์ของซีเอสไอเอสระบุ
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกทะยานมากถึง 4% ในวันพฤหัสบดีหลังเหตุโจมตีดังกล่าว ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐโทษว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน ส่วนรัฐบาลอิหร่านปฏิเสธและอ้างว่าถูกสหรัฐจัดฉาก
อย่างไรก็ตาม คอร์ดสแมนคาดว่า เหตุการณ์นี้จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากมายในปีนี้ เนื่องจากประสบภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจและสงครามการค้าอยู่แล้วแต่แน่นอนว่าความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางอาจเป็นภัยคุกคามต่อตลาดพลังงาน
ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว หลังจากรัฐบาลของทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างประเทศที่ทำกับรัฐบาลเตหะรานเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่อิหร่านขู่หลายครั้งว่าจะขัดขวางการสัญจรในช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่อประเทศ
“อิหร่านสามารถใช้กองกำลังทางเรือ อากาศ หรือขีปนาวุธ เพื่อโจมตีเรือในจุดใดก็ได้ในอ่าวดังกล่าว หรือใช้หุ่นเชิดจัดการแทน” คอร์ดสแมนชี้ และว่า “อิหร่านยังไม่ได้เปิดสงครามใหญ่ แต่สามารถทำการโจมตีเป็นพักๆ หรือขนาดย่อมๆ ที่สหรัฐหรือพันธมิตรอาหรับไม่จำเป็นต้องมีปฏิกิริยารุนแรงอะไร แต่ก็สร้างความเสี่ยงในราคาน้ำมันทันที”
น้ำมันดิบส่วนใหญ่ถูกส่งออกจากซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) คูเวต และอิรัก ตัดผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน แต่ยูเออีและซาอุดีอาระเบียได้หาทางเลือกอื่นแทนการผ่านช่องแคบนี้ไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม คอร์ดสแมนมองว่า ทางเลือกในปัจจุบันมีอยู่จำกัด“ทางเลือกเดียวนอกจากใช้เส้นทางนี้ มีเพียงท่อส่งน้ำมันที่พาดผ่านอิรักไปถึงท่าเรือตุรกี”
ขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียก็มีท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่กว่าเชื่อมถึงท่าเรือยันบูติดกับทะเลแดง ทางตะวันตกของประเทศ แต่คอร์ดสแมนกล่าวว่า ในกรณีดีที่สุด ปริมาณน้ำมันที่ผ่านท่อส่งนี้อยู่ที่ไม่ถึง 20% ของน้ำมันที่ขนส่งต่อวันผ่านอ่าวฮอร์มุซ
นอกจากนั้น ทางเลือกเหล่านี้ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากซาอุดีอาระเบียได้สั่งปิดท่อส่งน้ำมันยันบู หลังเกิดเหตุโจมตีด้วยโดรนติดอาวุธเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
คอร์ดสแมนเผยว่า ปัจจุบันมีเพียงซาอุดีอาระเบียและยูเออีที่มีท่อส่งน้ำมันที่สามารถส่งออกน้ำมันไปนอกอ่าวเปอร์เซียได้ และยังมีท่อส่งเพิ่มเติมเพื่อเลี่ยงช่องแคบฮอร์มุซ แต่ถึงกระนั้นกำลังการขนส่งน้ำมันรวมจากทั้ง 2 ประเทศอยู่ที่เพียง 6.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับถึงสิ้นปี 2559