“เอเชียอาคเนย์”เป้าเครือข่ายอาชญากรรม
ขณะที่ตลาดการค้าเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนในอาเซียน มีมูลค่ามากถึงปีละ 7.17 หมื่นล้านดอลลาร์
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”ยังคงเป็นเป้าหมายในการขยายปฏิบัติการของบรรดาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามผลการศึกษาล่าสุดเรื่อง “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ” ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ซึ่งระบุว่า องค์กรอาชญากรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สร้างผลกำไรสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและจัดว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อภูมิภาค
รายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ครอบคลุมที่สุดของสหประชาชาติในระยะเวลา 5ปีรายงานดังกล่าวพบว่า การนำระบบการบังคับใช้กฎหมายมาใช้เพื่อการปราบปรามในบางส่วนของภูมิภาคและภูมิภาคใกล้เคียงได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าและเคลื่อนย้ายสิ่งผิดกฎหมาย
ขณะเดียวกัน องค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ได้เพิ่มขนาดและโยกย้ายปฏิบัติการไปยังพื้นที่ที่มีระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายแดน นอกจากนี้การทุจริตและการฟอกเงินผ่านกาสิโนยังถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งของภูมิภาคนี้
ยาเสพติดสังเคราะห์กลายเป็นธุรกิจผิดกฎหมายที่สร้างผลกำไรสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากองค์กรอาชญากรรมได้คิดค้นวิธีการค้ารูปแบบใหม่และขยายตลาดการค้าเมทแอมเฟตามีน(ยาไอซ์และยาบ้า) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 6.14 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี และตลาดเฮโรอีนมีขนาดลดลงโดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี
รายงานยังยืนยันว่า ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้สร้างทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อแรงงานราคาถูก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ในชีวิต โดยสิ่งนี้เป็นตัวผลักดันให้การค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติมีการเติบโตยิ่งขึ้น
รายได้ของคนที่เพิ่มขึ้นมีบทบาทสำคัญต่อการลักลอบค้าสัตว์ป่าและไม้เถื่อน โดยเมื่อคนมีกำลังการซื้อเพิ่มขึ้นความต้องการต่อผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อจำนวนสัตว์ป่าหายากและเขตป่าสงวนของภูมิภาคนี้ลดลง ทำให้มีการขยายแหล่งจัดหาสินค้าไปยังภูมิภาคแอฟริกา
ภูมิภาคนี้ยังเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายสินค้าลอกเลียนแบบและยาปลอมที่ทำกำไรสูง โดยในจำนวนนี้มีสินค้าบางตัวที่มีปัญหาด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย สินค้าปลอมและลอกเลียนแบบที่มีการซื้อขายกันในภูมิภาคนี้มีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระเป๋าถือ แอลกอฮอล์ ไปจนถึงชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีมูลค่าโดยประมาณสูงถึง 3.59 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี
นอกจากนั้น ยังพบว่า ยาปลอมที่มีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลายได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างฉับพลันต่อผู้ใช้และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อลักษณะและแบบแผนของโรค ซึ่งการซื้อขายยาปลอมนี้ได้สร้างรายได้ให้แก่องค์กรอาชญากรรมสูงถึง 2,600ล้านดอลลาร์ต่อปี
เจเรมี ดักลาส ผู้แทนยูเอ็นโอดีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังสร้างรายได้หลายหมื่นล้านดอลลาร์จากการลักลอบค้าและขนย้ายมนุษย์ยาเสพติดและสารตั้งต้น สัตว์ป่าและไม้เถื่อน รวมไปถึงสินค้าปลอมและลอกเลียนแบบข้ามพรมแดน
“ผลกำไรที่เกิดจากอาชญากรรมข้างต้นมีอัตราการขยายตัวสูง และเงินที่ผิดกฎหมายเหล่านี้กำลังเคลื่อนตัวผ่านอุตสาหกรรมกาสิโนและแหล่งธุรกิจที่สร้างเงินสดขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาค สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรอาชญากรรมยังถือเป็นปัญหาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการการวางแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณแนวชายแดน เพื่อยับยั้งปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้” ดักลาสย้ำ
รายงานฉบับนี้ประกาศออกมา 1สัปดาห์ก่อนการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (เอสโอเอ็มทีซี) ประจำปีนี้ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงเนปิดอว์ของเมียนมา โดยยูเอ็นโอดีซีจะรายงานสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและพันธมิตรระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยูเอ็นโอดีซีและรัฐบาลไทยจะได้ร่วมกันรายงานสรุปแผนการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานการประชุมอาเซียนในปี 2562ด้วย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า สถานการณ์การปฏิบัติการขององค์กรอาชญากรรมในภูมิภาคนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยองค์กรอาชญากรรมได้แสวงหาประโยชน์จากประเทศที่มีข้อจำกัดในการตอบโต้ด้วยมาตรการที่เหมาะสม
“อย่างไรก็ดีเราพร้อมที่จะเป็นผู้นำและทำงานร่วมกับยูเอ็นโอดีซีและพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างกลไกในการยับยั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดนร่วมกัน”พล.อ.อ.ประจิน เสริม