เผยภาพรวมอ่านออกเขียนได้เด็กประถมดีขึ้นทุกระดับ

เผยภาพรวมอ่านออกเขียนได้เด็กประถมดีขึ้นทุกระดับ

สพฐ.เผยภาพรวมการอ่านออกเขียนได้เด็กประถมดีขึ้น ระบุข้อมูลคัดกรองเดือนมิ.ย. พบเด็กประถมอ่านคำ อ่านรู้เรื่อง เขียนคำ เขียนเรื่องได้มากกว่า 90% พร้อมเร่งเขตพื้นที่พัฒนาอย่างจริงจัง

วันนี้ (7 ส.ค.) นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนท์ ว่า ได้แจ้งการดำเนินงานต่างๆ ของเขตพื้นที่ที่ได้ดำเนินการ ตามนโยบายต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเฉพาะนโยบายพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยเรื่องการอ่านออกเขียนได้ที่เป็นข้อสั่งการหลังรับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ.เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยเด็กประถมศึกษาต้องอ่านออกเขียนได้ภายใน 2 เดือน ซึ่งเขตพื้นที่ได้รายงานข้อมูลโรงเรียนคัดกรองการอ่านการเขียนของนักเรียนล่าสุดเดือนมิ.ย.พบว่า การอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-6 ภาพรวมของประเทศมีระดับพอใช้ไปจนถึงดีมาก ดังนี้ นักเรียนชั้นป.1 อ่านคำ 94.49% เขียนคำ 92.61% นักเรียนชั้นป.2 อ่านคำ95.40% อ่านรู้เรื่อง 93.61% เขียนคำ89.27% เขียนเรื่อง91.07% นักเรียนชั้นป.3 อ่านคำ 96.49% อ่านรู้เรื่อง95.43% เขียนคำ 90.72% เขียนเรื่อง 94.41% นักเรียนชั้นป.4 อ่านคำ 98% อ่านรู้เรื่อง 95.34 % เขียนเรื่อง 96.59% นักเรียนชั้นป.5 อ่านคำ 98.31% อ่านรู้เรื่อง 91.59% เขียนเรื่อง 97.25% และนักเรียนชั้นป.6 อ่านคำ 98.65% อ่านรู้เรื่อง95.57% เขียนเรื่อง 97.86% ส่วนนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีผลคัดกรองระดับปรับปรุง สพฐ.ขอความร่วมมือให้เขตพื้นที่เร่งพัฒนาอย่างจริงจัง เช่น วิเคราะห์ผลนักเรียนเป็นรายบุคคล ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นอ่านเพื่อความเข้าใจ เป็นต้น


นอกจากนั้น เลขาธิการ กพฐ.ยังได้มอบนโยบายเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นนโยบายที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ให้ความสำคัญ โดยได้มอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่พื้นที่นำไปดำเนินการแล้วว่าจะมีวิธีบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในรูปแบบใดบ้างไม่ว่าจะเป็นการควบรวม หรือการทำให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีเด็กเป็นโรงเรียนของชุมชน หรือให้ชุมชนท้องถิ่นนั้นๆได้นำไปใช้ประโยชน์


“ขอย้ำว่านโยบายการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของสพฐ.จะไม่มีคำว่ายุบโรงเรียน แต่ขอให้เขตพื้นที่ได้หาวิธีการบริหารให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และเน้นวิธีการแก้ปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ ดังนั้น วันที่ 15 ส.ค.เขตพื้นที่จะต้องกรอกข้อมูลวิธีการบริหารโรงเรียนเล็กทุกโรงเรียนในระบบสารสนเทศของสพฐ. จากนั้นภายในวันที่ 30 ส.ค.จะสรุปแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้ รมว.ศธ.พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะมีการผลักดันให้เป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นวาระแห่งชาติด้วย”นายสุเทพ กล่าว