กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา ‘ยามะเร็งเต้านม’
"ศ. ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมทพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" ทรงลงพระนามความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ "ยามะเร็งเต้านม" ครั้งแรกของไทย
วันนี้ (9 ส.ค. 62) เวลา 15.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จในพิธีลงพระนามและลงนาม ข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ ระหว่าง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และองค์การเภสัชกรรม ณ ตำหนักจักรีบงกช ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเฝ้าฯ รับเสด็จ
จากความสำเร็จของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้การนำของ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการศึกษาวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุได้เองภายในประเทศตั้งแต่ขั้นแรก คือ การเตรียมดีเอ็นเอเพื่อการพัฒนาเซลล์ที่ใช้ในการผลิตยาชีววัตถุ ไปจนถึงกระบวนการผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ถือเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญและชิ้นแรกของประเทศไทย
ความสำเร็จดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์จากการประกาศความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 โดยยาชนิดแรกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา คือ ยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilar) ชนิดโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ชื่อ “ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)” ซึ่งเป็นยาที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัย และเป็นกลุ่มยาที่มีความจำเป็นต่อการรักษาแนวทางใหม่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมซึ่งเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงที่สุดสำหรับผู้หญิงไทย และมีอัตราเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันกระบวนการการผลิตมีความก้าวหน้าตามลำดับ
ขั้นตอนต่อไป เมื่อสามารถผลิตยาชีววัตถุดังกล่าวได้ในปริมาณที่มากพอสำหรับการผลิตระดับอุตสาหกรรมแล้วจำเป็นต้องทำการศึกษาทดลองในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ต่อไปเพื่อพิสูจน์คุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ อันจะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนตำรับยา และการผลิตในระดับอุตสาหกรรม
ขั้นตอนเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ประกอบกับใช้งบประมาณลงทุนสูงมาก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการบูรณาการ การทำงานระหว่างสถาบันการศึกษากับ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
องค์ประธานจึงทรงเห็นชอบให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติม และตกลงที่จะร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี มีศักยภาพที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาตัวยา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบยาของประเทศในอนาคต ในขณะที่องค์การเภสัชกรรม เป็นองค์กรหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ มีศักยภาพ เชี่ยวชาญ ในการวิจัย พัฒนาและผลิตยาตามมาตรฐานสากล โดยทั้งสองหน่วยงานได้มีแผนร่วมกันพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อทดแทนการนำเข้าและการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ รวมถึงการก้าวให้เท่าทันเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
ในการนี้ มีพระดำรัสรับสั่ง องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ว่า
“การพัฒนายาเป็นเรื่องที่ใช้เวลานาน ต้องใช้ความระมัดระวัง แต่เพื่อประชาชน เราก็ต้องทำ”
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และองค์การเภสัชกรรม ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่ปลอดภัย มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล ในราคาที่เหมาะสมได้อย่างทั่วถึง สามารถเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยลดการนำเข้าและลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยา และระบบประกันสุขภาพของประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มจำนวนและศักยภาพของบุคลากรของประเทศ
ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ และนวัตกรรมการผลิตในประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล สอดคล้องกับแผนการพัฒนา ประเทศตามนโยบายประเทศ 4.0 และปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นความหวังของผู้ป่วยที่จะได้ใช้ยาที่ผลิตในประเทศโดยคนไทยในราคาที่ผู้ป่วยเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงในอนาคตอันใกล้