กฟผ. จับมือ บ้านผีเสื้อ ลงนาม MOU พัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน

กฟผ. จับมือ บ้านผีเสื้อ ลงนาม MOU พัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน

กฟผ. ร่วมกับบ้านผีเสื้อ จ.เชียงใหม่ ลงนามข้อตกลงพัฒนาระบบสมาร์ทกริดและไมโครกริด ศึกษาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในรูปแบบไฮโดรเจน

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามข้อตกลง (MOU) โครงการ EGAT Energy Excellence Center (EGAT-EEC) ร่วมกับ Mr. Sebastian-Justus Schmidt ประธานกรรมการบริษัท Enapter ผู้ริเริ่มโครงการบ้านผีเสื้อ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและไมโครกริด (Smart Grid and Microgrid) ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2562 ณ บ้านผีเสื้อ ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เข้ามามีส่วนช่วยในการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า กฟผ. จึงร่วมมือกับบ้านผีเสื้อ ผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน จัดทำ ‘โครงการการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและไมโครกริด (Smart Grid and Microgrid)’ ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในรูปแบบไฮโดรเจน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและไมโครกริดภายใต้โครงการ Sandbox “EGAT Energy Excellence Center (EGAT-EEC)” ของ กฟผ.

 

กฟผ. และ บ้านผีเสื้อ จะร่วมกันพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและไมโครกริด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการ EGAT-EEC เป็นระยะเวลา 2 ปี ภายใต้ขอบเขต ศึกษา ออกแบบ และพัฒนาโครงการ EGAT-EEC ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าประเภทแสงอาทิตย์ ลม เครื่องยนต์ก๊าซ และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน ผสมผสานร่วมกับ EGAT Inverter Model ในการบริหารจัดการพลังงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดทำแผนงานและงบประมาณโครงการ EGAT-EEC อีกทั้งดำเนินการวางรากฐานและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านวิศวกรรมของโครงการ เพื่อบูรณาการเทคโนโลยีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งขยายผลไปยังศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. นอกจากนี้ ยังมีการศึกษารูปแบบโมเดลทางธุรกิจร่วมกัน เพื่อต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

ทั้งนี้ กฟผ. มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการศึกษาและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อต่อยอดโครงการต้นแบบทางด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนภาคประชาสังคม สร้างโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต พร้อมทั้งเป็นต้นแบบในการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยต่อไป