‘ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนวูบหนัก ผวาสงครามการค้า กำไรบจ.ทรุด
'สภาธุรกิจตลาดทุนไทย' เผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ก.ย. อยู่ที่ 102.74 ลดลง 21.70 % จากเดือนก่อน มาอยู่เกณฑ์ทรงตัว เหตุ ความกังวลเทรดวอร์ กำไรบจ.ไทย ลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะ ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย คาด กนง.ประชุม 25 ก.ย คงดอกเบี้ย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกันยายน 2562 ว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) โดยผลสำรวจพบว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนคาดหวังการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารสหรัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน”
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกันยายน 2562 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
-ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2562) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 119) โดยลดลง 21.70% มาอยู่ที่ระดับ 102.74
-ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
-ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish)
- ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
-ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ลดลงเล็กน้อยอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
ทั้งนี้ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพาณิชย์ (COMM) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)
'ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงค่อนข้างมากมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว โดย กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมากมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มสถาบันในประเทศลดลงเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรงเช่นเดิม'นายไพบูลย์ กล่าว
ในช่วงเดือนสิงหาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเคลื่อนไหวลดลงค่อนข้างมากจากระดับสูงสุดช่วง 1700 จุดในต้นเดือนเคลื่อนไหวลดลงสลับกับการพักตัวมาอยู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1590 จุด ในช่วงกลางเดือน ก่อนฟื้นตัวและทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวในระดับ 1640-1650 จุดในช่วงปลายเดือน โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือนโยบายทางการเงินของธนาคารสหรัฐ จากการคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในปี 2562 และ 2563 รองลงมาคือนักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐ จากการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ที่การประกาศตัวเลขการส่งออกที่ดีกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตามนักลงทุนมีความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการประกาศตอบโต้เพิ่มอัตราภาษีทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และภาวะเศรษฐกิจในประเทศจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอียู ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายทางการเงินรวมถึงมาตรการ QE จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ แนวโน้ม Brexit ที่มีกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ต.ค.62 เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอ
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกันยายน 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ คาดดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกันยายนนี้ อยู่ที่ระดับ 44 ลดลงเล็กน้อยจากครั้งที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนกันยายนนี้ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.50 ต่อไป โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง เป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ
ทั้งนี้ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. พฤศจิกายน 2562 (ประมาณ 9 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 25 และ 22 ตามลำดับ ลดลงจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)” ซึ่ง Bond yield 5 ปีอยู่ที่ระดับ 1.48% และ Bond yield 10 ปีอยู่ที่ 1.54% ณ วันที่ทำการสำรวจ (23 ส.ค. 62) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มลดลง อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ และ Fund flow จากต่างชาติ