สภาฯ ตีตกญัตติขอตั้ง กมธ.ศึกษาปัญหาโครงการ 'อีอีซี'
สภาตีตก ญัตติตรวจสอบโครงการอีอีซี "ปธ.วิปฯ" บอกตกลงกัน ให้สอบในกมธ.สามัญ พบ ส.ส.ที่ร่วมหนุนเสนอญัตติ ฝ่ายรบ. ยังลงมติไม่เห็นด้วย
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติด่วน ต่อการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการในโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง , สุวรรณภุมิ และ อู่ตะเภา และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามที่มีส.ส.เสนอ ทั้งนี้การเสนอญัตติดังกล่าวเป็นการรวมพิจารณาของ 4 ญัตติที่เสนอโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ นำเสนอญัตติตั้งกมธ.เพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน, นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และคณะ เสนอญัตติศึกษาโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี), นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคอนาคตใหม่และคณะ เสนอญัตติศึกษาและตรวจสอบผลกระทบโครงการอีอีซี , การวางผังเมืองและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และ นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ และนายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ เสนอญัตติศึกษาผลกระทบจากโครงการอีอีซีและแสวงหาแนวทางป้องกัน
ทั้งนี้ การอภิปรายในเนื้อหาสาระ ซึ่งนำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ ให้ความเห็นต่อการเสนอญัตติที่ควรตั้งกมธ.ฯ ศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างรอบด้าน เพราะกรณีที่เกิดขึ้นมีข้อท้วงติงในหลายประเด็น อาทิ การไม่ทำสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเร่งดำเนินการ
ขณะที่การอภิปรายของส.ส.ส่วนใหญ่สนับสนุนให้สภาฯ พิจารณารายละเอียด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และมีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง อย่างไรก็ตามหลังจากอภิปรายพอสมควร ที่ประชุมได้ลงมติว่าจะตั้งกมธ.ฯ ตามญัตติหรือไม่ ผลปรากฎว่าส.ส.ที่มาประชุม 457 คน ลงมติเสียงข้างมาก 231 เสียงไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.ฯ ขณะที่เสียงสนับสนุนให้ตั้งมี 224 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่สนับสนุนให้ตั้งกมธ.ฯ พบว่าเป็นส่วนของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ถือว่าเป็นการลงมติเพื่อไม่ให้ตั้งกมธ.วิสามัญ เป็นครั้งแรกของสภาฯ ชุดปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ส.ที่เคยลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเสนอญัตติ บางส่วนยังลงคะแนนไม่เห็นด้วย อาทิ นายบัญญัติ, นายธารา, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์, นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายชุมพล จุลใจ ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์, นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวลงชื่อสนับสนุนการเสนอญัตติศึกษาผลกระทบจากโครงการอีอีซีและแสวงหาแนวทางป้องกัน
นายสุรสิทธิ์, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ,นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย, นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา, นายณัฎฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา,นายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งลงชื่อสนับสนุนการเสนอญัตติศึกษาโครงการอีอีซี เป็นต้น
ทั้งนี้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวว่าได้หารือร่วมกับส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว และมองว่าเนื้อหาที่เสนอญัตตินั้นควรนำเข้าสู่การพิจารณาของกมธ.สามัญประจำสภาฯชุดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดได้แต่งตั้งและกมธ.ฯ พร้อมทำงานแล้ว ส่วนการตั้งกมธ.วิสามัญนั้นถือเป็นการตั้งเรื่องที่เกินจำเป็นและอาจกลายเป็นข้อจำกัดต่อการใช้ห้องประชุมสภาฯที่ห้องประชุมกมธ.ฯ สามารถเข้าใช้งานได้เพียง 8 ห้องเท่านั้น
“ที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.ฯ นั้นไม่ใช่การปกป้องรัฐบาลไม่ให้สภาฯ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่เห็นว่าเมื่อมีกมธ.สามัญแล้ว ประเด็นที่ต้องการตรวจสอบสามารถเสนอให้กมธ.ที่เกี่ยวข้องได้” นายวิรัช กล่าว