เร่งตั้งสถานีตรวจฝุ่น50เขต นายกฯสั่งกวาด“รถควันดำ”
นายกฯสั่งจับหมด “รถควันดำ” แก้ฝุ่น PM2.5 ไล่ไปซ่อม-เปลี่ยนไส้กรอง ขณะที่ มท.1 สั่งผู้ว่าฯเร่งแก้ปัญหา ปฏิบัติตามแผนแห่งชาติ เร่งติดสถานีตรวจวัดฝุ่นครบ 50 เขต กทม.ภายในปีนี้ ตั้งด่านตรวจครึ่งปีพบ รถบรรทุก-รถโดยสาร 6 ล้อ ไม่ผ่านเกณฑ์ควันดำ 63,921 คัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีมอบนโยบายแก่สภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า เกษตรกรสามารถช่วยรัฐบาลลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ด้วยการลดการเผาในที่โล่งแจ้ง ทุกประเทศเขาก็ทำแบบนี้
ส่วนเรื่องการจราจร ควันดำ ตนสั่งการให้ดักจับหมดแล้ว ถ้าไม่จับก็มีปัญหา ตนก็โดนอีกหาว่าไม่เอาใจใส่ เรื่องควันดำผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบด้วย รถทุกชนิด แค่ไปเปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนน้ำมันเครื่องให้ดี เครื่องที่หมดสภาพก็ซ่อมแซม จะใช้ถูลู่ถูกังกันไปถึงไหน มันมีผลกระทบกับคนอื่น พอจะตั้งด่านตรวจก็มีเรื่องอีก หาว่าเก็บเงินเรียกเงิน
“ถ้าทุกคนไม่ทำผิดเรื่องพวกนี้เลย ก็ไม่ต้องไปดักจับกัน ตำรวจก็ไม่ถูกกล่าวหาว่าเรียกเงิน มันก็จบแล้ว ไม่อย่างนั้นก็ขัดแย้งกันเรื่องกฎหมายตลอด ถ้าประเทศไหนไม่มีกฎหมายก็อยู่ไม่ได้ บางทีรถที่ควันไม่ดำ ต้องถูกตรวจด้วย ก็ด่ารัฐบาล ด่านายกฯ ขอให้ช่วยผมหน่อย”
ขณะที่ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดารมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า นายกฯได้มอบนโยบายในเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5และครม.ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
ทั้งนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม. ดำเนินการตามมาตรการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่(การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต) โดยให้ติดตาม เฝ้าระวัง ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)จัดทำแผนเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาตามระดับค่าฝุ่นละอองระดับ 1 – 4 รวมทั้งสร้างการรับรู้และให้คำแนะนำการปฏิบัติตนให้กับประชาชนพร้อม
2.มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยให้ดำเนินมาตรการด้านการขนส่งและจราจร เช่น ตรวจจับรถควันดำ รณรงค์ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนการฉีดล้างทำความสะอาดพื้นผิวถนนอย่างต่อเนื่อง และให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)จากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด และดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อควบคุม และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)จากการก่อสร้างและระบบสาธารณูปโภคให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
3.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่รับผิดชอบ โดยใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสร้างเครือข่ายแจ้งเตือนและสร้างการรับรู้กับประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งจัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่และช่วงเวลาตามความเหมาะสม และสอดคล้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมทั้งสร้างความตระหนักและลดการเผาในที่โล่งและในที่ชุมชน/เมือง
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองสูงให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก และหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้สูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย สตรีมีครรภ์ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และหากผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป
ขณะเดียวกัน นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการดำเนินงานในการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กทม. และ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
โดยในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในสถานการณ์วิกฤตด้านฝุ่นละออง มีการยกระดับแผนการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนตาม 3 มาตรการหลัก สำหรับการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม. จะดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สามารถตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ให้ครบ 50 เขต ภายในเดือนธ.ค. 2562 จากเดิม 24 สถานี
ส่วนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเข้มงวด ทั้งจากการก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง และการตรวจวัดควันดำรถยนต์ ในส่วนกองบังคับการตำรวจจราจร ได้มีการตั้งจุดตรวจ 20 จุด เพื่อคัดกรองยานพาหนะที่มีควันดำ โดยมีการตั้งด่านตรวจในเวลา 10.00 – 14.30 น. ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนม.ค. – ก.ค. 2562 มีการตรวจตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก รถบรรทุก รถโดยสาร 6 ล้อ ขึ้นไป ตรวจ 140,306 คัน ไม่ผ่าน 63,921 คัน
นอกจากนี้มีการตรวจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก รถยนต์ 4 ล้อ ตรวจ 67,051 คัน ไม่ผ่าน 26,886 คัน คิดเป็นร้อยละ 44 และได้กำหนดเวลาห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้าพื้นที่ กทม. ชั้นใน เวลา 06.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 21.00 น. และยังร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เข้มงวดตรวจจับควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ กำหนดตรวจเดือนละ 8 ครั้ง 16 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่เขตจตุจักร พระราม 7 และดินแดง
ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งดำเนินการลดปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดจากรถโดยสาร โดยมีมาตรการป้องกันการเกิดฝุ่นตั้งแต่ตรวจสภาพรถก่อนใช้งาน และเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซล B20 เป็นเชื้อเพลิง โดยรถโดยสารก่อนออกจากอู่จะมีการตรวจสอบทุกคัน มีค่า PM 2.5 ไม่เกิน 45 มคก./ลบ.มและรถร่วมทั้งหมดใช้เชื้อเพลิง CNG ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติพลังงานทางเลือกใหม่ และในส่วนกรมทางหลวง ประสานงานกับผู้รับเหมาให้ติดตั้งระบบปล่อยฝอยละอองน้ำ (High Pressure Water System) ในพื้นที่ก่อสร้างทุกโครงการเพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง
รวมถึงจะมีการส่งเสริมให้ผู้ใช้รถส่วนตัวใน กทม. ใช้บัตร Easy Pass และระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ หรือ M-PASS ในเส้นทางออกต่างจังหวัด เพื่อช่วยลดปริมาณมลพิษที่เกิดจากการติดสะสมของปริมาณการจราจรหน้าด่านเก็บเงิน ในส่วนกรมทางหลวงชนบท ติดตั้งระบบดักจับฝุ่นละออง บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 7 สะพานภูมิพล และตรวจสอบสภาพรถที่ใช้ในการก่อสร้างซ่อมบำรุงทางหลวงชนบท