อนาคตข้าวหอมมะลิไทย เอกลักษณ์หนึ่งเดียว เปิดแผนรักษาคุณภาพ-ปริมาณ
ผลส่งเสริมข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 62/63 ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ รวม 8.5 ล้านบาท
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าผลการประเมินผลโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2562/63 โดยกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมดำเนินการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีเพื่อให้การผลิตข้าวหอมมะลิของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีประสิทธิภาพและผลผลิตมีคุณภาพสูง รักษาระดับปริมาณ และความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทย
โดยโครงการจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 2561 ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไร่ละ 5 กิโลกรัม แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือ 50 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้เพาะปลูกในฤดูนาปี ปี 2562/63 กำหนดเป้าหมาย พื้นที่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และสุรินทร์ รวมเกษตรกร 112,811 ราย (คัดเลือกจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ปลูกข้าวหอมมะลิ และได้รับผลกระทบภัยแล้ง) รวมเมล็ดพันธุ์สนับสนุน 4,423 ตัน พร้อมทั้งให้คำแนะนำการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราปลูกที่เหมาะสม และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรจากกรมการข้าว มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ม. ค. - พ. ย. 2562
จากการติดตามประเมินผลโครงการ พบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี จำนวน 112,811 ราย ตามเป้าหมาย แยกเป็นรายจังหวัดได้แก่ นครราชสีมา 37,067 ราย บุรีรัมย์ 21,037 ราย มหาสารคาม 23,115 ราย ร้อยเอ็ด 19,208 ราย ขอนแก่น 11,386 ราย สุรินทร์ 484 ราย และศรีสะเกษ 514 ราย รวมเมล็ดพันธุ์ 4,423 ตัน โดยเกษตรกรได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ได้รับจากโครงการมาปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ รวมพื้นที่กว่า 232,000 ไร่ หรือเฉลี่ยรายละ 2.06 ไร่
เกษตรกร 97 % มีความพึงพอใจต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำไปใช้มีอัตราการงอกดี พันธุ์ปนน้อย และคาดว่าจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยเกษตรกรบางส่วนต้องการให้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์มากกว่า 5 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ทำนาหว่าน
ด้านการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เกษตรกรที่ได้รับการอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ เช่น เรื่องการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราปลูกที่เหมาะสม การลดต้นทุนการผลิตข้าว และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองโดยส่วนใหญ่ได้ปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ซึ่งผลจากการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิและอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้เกษตรกรที่ได้รับการอบรม สามารถลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ลง โดยก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกเฉลี่ย 20.31 กิโลกรัมต่อไร่ ภายหลังร่วมโครงการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 18.90 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลง 1.41 กิโลกรัม/ไร่) สามารถลดต้นทุนจากการใช้เมล็ดพันธุ์ จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 112,811 ราย คิดเป็นมูลค่า 8.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบางส่วน ประสบภัยแล้งต่อเนื่อง ในปี 2562/63 (ช่วงเดือนพ. ค. - ส. ค. ) ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิที่ได้รับเมล็ดพันธุ์จากโครงการได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย สถานการณ์ฝนแล้ง ไปแล้วรวม 29 อำเภอ และจากสภาวะดังกล่าว อาจกระทบผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่โครงการคาดไว้ ซึ่งจะเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนพ. ย. - ธ. ค. 2562 แต่จะส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิในปีการผลิต 2562/63 ปรับตัวสูงขึ้น โดยเกษตรกรที่ยังคงได้รับผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีของโครงการ คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่างกับช่วงปีที่ฝนฟ้ามีสภาวะปกติมากนัก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เสี่ยงงดปลูก 'ข้าวหอมมะลิ' หลังประเมินสภาพฝนแล้งหนัก
-เปิดตัวมะลิดำหนองคาย62 พันธุ์ข้าวเฉลิมพระเกียรติร.10
-ธ.ก.ส.คาดข้าวหอมมะลิราคาดีขึ้น
-ครม. แจก 'พันธุ์ข้าวหอมมะลิ' หมื่นตันช่วยชาวนาประสบ