คนไทย 'สอบตก' วินัยการเงิน ไร้การวางแผนเกษียณ หลังอายุ 60 ปียังต้องทำงาน

คนไทย 'สอบตก' วินัยการเงิน ไร้การวางแผนเกษียณ หลังอายุ 60 ปียังต้องทำงาน

"โกแบร์" เปิดผลสำรวจ "สุขภาพการเงิน" พบ "คนไทย" ขาดวินัยหนัก ไร้การวางแผนเกษียณ ส่งผลต้องทำงานต่อหลังอายุ 60 ปี ชี้สาเหตุคนส่วนใหญ่ไม่ลงทุน เพราะไม่มีเงินเหลือเพียงพอหลังหักค่าใช้จ่าย พบเกินครึ่งหากตกงาน มีเงินออมเหลือใช้ไม่เกิน 6 เดือน

นายมาร์นิกซ์ สวาร์ท รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านพัฒนาธุรกิจ และผู้ร่วมก่อตั้ง เว็บไซต์โกแบร์ GoBear.com เว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เปิดเผยในงานสัมมนา “GoBear Fin Detective #สืบฟินวินทุกเรื่องเงิน” ว่า บริษัทได้จัดทำดัชนีชี้วัดสุขภาพทางการเงินของโกแบร์ (GoBear) หรือ GoBear Financial Health Index ร่วมกับ องค์กรวิจัย Kadence International โดยจัดทำขึ้นในตลาดสำคัญ 4 แห่งของโกแบร์ทั่วเอเชีย ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งการศึกษาในกลุ่มคนไทย 5 กลุ่มอายุ จำนวน 1,000 คน คือ กลุ่มอายุ 18-25 กลุ่มอายุ 26-35 กลุ่มอายุ 36-45 กลุ่มอายุ 46-55 และกลุ่มอายุ 56-65

จากผลการศึกษาดังกล่าว พบว่า ปัญหาหลัก ๆ ของการไม่ลงทุนเกิดจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินมากกว่า โนว์ฮาวทางด้านการลงทุน โดยกลุ่มศึกษาในไทยพบว่า ประมาณ 50% ของทุกกลุ่มอายุไม่ลงทุนเนื่องจาก “ไม่มีเงินเหลือเพียงพอหลังหักรายจ่าย” เหตุผลอื่นที่ตามมาคือการขาดความคุ้นเคยหรือขาดความรู้ด้านการลงทุน รวมถึงมองว่าการลงทุนมีความเสี่ยง

157138817257

นอกจากนี้ยังพบว่า กว่า 50% ไม่มีเงินออมในบัญชีที่จะใช้ดำรงชีพได้เกิน 6 เดือนหากเกิดการขาดรายได้กระทันหัน และที่สำคัญคือ ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินนี้ เป็นปัญหาที่เกิดซ้ำ โดย 66% ของคนไทย พบเจอปัญหานี้เป็นประจำทุกปี และ 15% ของคนที่ขาดรายได้หรือตกงาน ไม่มีทางออกหรือความช่วยเหลือทางการเงินใดๆ ทั้งจากญาติพี่น้องหรือคนรอบข้าง

ปัญหาการขาดวินัยด้านการเงิน มักส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเงินอื่นๆ ตามมา ทั้งเรื่องหนี้สิน การไม่มีเงินออมและการไม่ได้วางแผนด้านการเงินรองรับชีวิตหลังเกษียณ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าเกษียณที่อายุต้น 50 ปี แต่ในคนวัย 46 ปีขึ้นไป ตั้งเป้าเกษียณที่อายุหลัง 60 ปีหมายความว่า ถึงแม้คนไทยคาดหวังจะเกษียณเร็วขึ้น แต่เมื่อคนไทยจำนวนไม่น้อยยังขาดวินัยทางการเงิน ทำให้ในความเป็นจริง คนไทยอาจจะยังคงต้องทำงานต่อไปหลังอายุ 60 ปี นอกจากนี้การศึกษาของ Kadence ยังพบอีกว่า 38% ของคนวัย 18-25 ปี ยังไม่เริ่มวางแผนเกษียณ ในขณะที่ยังมีคนวัย 36-45 ปี อีกถึง 26% ยังไม่เริ่มวางแผนเกษียณเช่นเดียวกัน

จากการวิจัยของโกแบร์ (GoBear) และ Kadence พบว่า คะแนนการประเมินสุขภาพทางการเงินโดยรวมของคนไทยอยู่ที่ระดับ 61% ซึ่งถือว่ายังมีช่องว่างเพื่อการพัฒนาได้อีกมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยในการสำรวจ ทำคะแนนในแบบทดสอบในส่วนของความรู้ทางการเงินได้น้อยนั่นเอง

ปัญหาหลักๆ ด้านการเงินของคนไทยที่เห็นชัดจากผลการศึกษาแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1. ปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ ทำให้ไม่เหลือเงินเพื่อเก็บหรือเพื่อลงทุน

2.ปัญหาการขาดสภาพคล่องของเงินสดในมือ 3. การขาดการวางแผนด้านการเงินในวัยเกษียณ หรือเริ่มวางแผนการเงินวัยเกษียณเมื่ออายุมากเกินไป จากตัวเลขการวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยที่คนไทยให้ความสนใจวางแผนด้านการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 41.5 ปี และ 4 .การขาดความรู้อย่างจริงจังในเรื่องของการเงิน ทำให้การจัดการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเงินมักมีข้อผิดพลาดเสมอ

อย่างไรก็ตาม หลังจากบริษัททราบถึงช่องว่างที่คนไทยยังขาดวินัยทางการเงิน ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทเตรียมต่อยอดให้ความรู้กับคนไทย ด้วยการสร้างโกแบร์คลาสรูมออนไลน์ และพัฒนาแพลตฟอร์มตรวจสุขภาพทางการเงินให้คนไทยสามารถเข้าตรวจสอบได้และจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้หลากหลายมากขึ้นด้วย