"โกลเด้นวีซ่า" กระชับสัมพันธ์ "จีน-กรีซ"
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกรีซแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากกรีซเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ร่วมโครงการ “สายแถบและเส้นทาง” อันโด่งดังของจีน เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้สองประเทศใกล้ชิดกันคือโครงการโกลเด้นวีซ่า
เจียง หรุนกง นักลงทุนชาวจีน ผู้ย้ายมาอยู่กรีซเมื่อ 3 ปีก่อน ยอมรับว่าเขาและครอบครัวมีความสุขเปี่ยมล้นในบ้านหลังใหม่บนชายฝั่งเอเธนส์
“เราเลือกกรีซเพราะมรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตย เสรีภาพ เราชื่นชมบรรยากาศที่นี่มาก ตั้งแต่ได้วีซ่า เราเดินทางไปยุโรปหลายประเทศ ทุกครั้งที่กลับมาถึงกรีซ ทันทีที่เท้าแตะสนามบิน เรารู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน” เจียงกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
นักลงทุนวัย 52 ปีจากเซี่ยงไฮ้พร้อมภรรยาและบุตรชาย ได้ประโยชน์จากโครงการโกลเด้นวีซ่าของกรีซ เปิดโอกาสให้เดินทางและใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปได้
เจียง เซมเนี้ยว บุตรชายวัย 18 ปี จัดการเรียนภาษากรีกภายในเวลาเพียง 2 ปี ขณะนี้เขาเรียนในโรงเรียนรัฐบาลและฝันได้เป็นพลเมืองกรีซเต็มตัว
ตามโครงการโกลเด้นวีซ่า ผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองสหภาพยุโรปต้องลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในกรีซอย่างน้อย 250,000 ยูโรจึงจะได้รับอนุญาตพำนักในกรีซเป็นเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตาม กรีซไม่ใช่ยุโรปประเทศเดียวที่ทำโครงการแบบนี้ สมาชิกอื่นๆ ของอียูที่เกิดวิกฤติ เช่น โปรตุเกส ไซปรัส และสเปนมีโครงการจูงใจแบบเดียวกันนี้มาหลายปีแล้ว
สำหรับกรีซหลังจากเศรษฐกิจถดถอยมานานนับสิบปี ราคาอสังหาริมทรัพย์ดิ่งเหวมานานเพิ่งจะขยับขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนโครงการโกลเด้นวีซ่าถึงขณะนี้ก็ยังไปได้สวย จำนวนใบอนุญาตพำนักที่ออกให้กับพลเมืองนอกอียูเมืื่อปี 2561 เพิ่มขึ้น 46% ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2556 ออกใบอนุญาตแล้วราว 5,300 ใบ กว่า 3,400 ใบออกให้กับผู้ซื้อบ้านชาวจีน
จีนและกรีซสร้างสายสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนคืบหน้ามานานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่รัฐบาลขาย 2ท่าเทียบตู้คอนเทนเนอร์หลัก 2 แห่งในท่าเรือพิเรอุส ให้กับคอสโก บริษัทชิปปิงรายใหญ่ของจีนเมืื่อปี 2551
นายกรัฐมนตรีคิเรียกอส มิตโซตากิสของกรีซ เพิ่งกลับจากการเยือนเซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 4 วัน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็มาเยือนเป็นการตอบแทนเป็นเวลา 3 วัน โดยเดินทางมาถึงกรุงเอเธนส์ในวันอาทิตย์ (10 พ.ย.)
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ชาวจีนไม่คิดว่ากรีซเป็นแค่จุดเริ่มต้นเพื่อเข้าสู่เขตปลอดวีซ่าของอียูอีกต่อไป ตอนนี้พวกเขามีความสุขสุดๆ ในบ้านหลังใหม่
“พวกเขาชอบอาศัยอยู่ในกรุงเอเธนส์และชานเมือง ตั้งไชน่าทาวน์เล็กๆ ขึ้น ซื้อห้องในแฟลตที่คนจีนเป็นเจ้าของทั้งหมด” แอนนี อาฟกูลี ผู้จัดการนโยบายย้ายถิ่น บริษัทกฎหมายเดเดสให้ความเห็น บริษัทนี้เชี่ยวชาญด้านโกลเด้นวีซ่าสำหรับลูกค้าชาวจีนเป็นพิเศษ แต่สำหรับลูกค้าบางรายการต้องคอยนานทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจ
“เวลาคุณบอกลูกค้าว่า ยื่นคำร้องแล้วต้องรออีกปีนึงนะ คล้ายกับว่าคุณกำลังบอกให้เขาไปที่อื่น” ดอรินา คอบซารุ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายลงทุนของเดเดสเลาเสริม ที่ต้องรอนานเพราะกระบวนการยื่นเรื่องอยู่ในแผนกเดียวกับแผนกดูแลคำร้องขอพักพิงในกรีซของผู้อพยพหลายหมื่นคน ทำให้เอกสารตกค้างจำนวนมหาศาล
ดังนั้นเพื่อขจัดความล่าช้าในระบบราชการและเอื้อให้การลงทุนง่ายขึ้น รัฐบาลอนุรักษนิยมที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเห็นชอบร่างกฎหมายเมื่อปลายเดือน ต.ค. อนุญาตให้ว่าที่นักลงทุนหลบหลีกการควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวดของจีนได้ ด้วยการใช้ศูนย์รวมธุรกรรมหลายธนาคารโอนเงินรวม 250,000 ดอลลาร์
อาโดนิส จอร์เจียดิส รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนากรีซ ที่เพิ่งเยือนจีนเมื่อเร็วๆ นี้กล่าวว่า ธนาคารกลางกรีซสรุปว่า การใช้ศูนย์รวมธนาคารไม่ละเมิดกฎหมายกรีซหรืออียู “ถ้าละเมิดกฎหมายจีนก็เป็นเรื่องของจีน”
กระนั้น เมื่อมองจากมุมของคนใกล้บ้านอย่างอียูกลับรู้สึกกังวลต่อโครงการโกลเด้นวีซ่า
รายงานจากคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ก่อนหน้านี้ชี้ว่า ไซปรัส บัลแกเรีย และมอลตา โอดครวญว่า
การตรวจสอบภูมิหลังและความมั่นคงของผู้ยื่นขอสถานะพำนักหรือพลเมืองที่มีฐานะมั่งคั่งยังมีไม่มากพอซึ่งกรีซเองพยายามอย่างยิ่งยวดในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และว่ากรีซไม่สามารถสูญเสียรายได้อันมีค่าได้ รายงานจากธนาคารกลางกรีซระบุว่า โครงการนี้ดูเหมือนจะช่วยกระตุ้นตลาดบ้านในประเทศที่เคยซบเซาก่อนหน้านี้ได้
ธนาคารกลางประเมินว่า ปี 2561 โกลเด้นวีซ่าดึงดูดเงินทุนจีนได้ 469 ล้านยูโร และเฉพาะครึ่งแรกของปีนี้ได้มากถึง 443 ล้านยูโร เมื่อเทียบกับเพียง 77 ล้านยูโรในปี 2560 และตั้งแต่เริ่มโครงการนักลงทุนจีนทุ่มเงินรวมกว่า 1 พันล้านยูโรซื้อที่อยู่อาศัยในกรีซ
จะว่าไปแล้วอสังหาริมทรัพย์เป็นแค่มิติหนึ่งของการกระชับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเอเธนส์กับปักกิ่งนับตั้งแต่กรีซเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหายไปราว 1 ใน 4
สำหรับคอสโกนอกจากได้ท่าเทียบตู้คอนเทนเนอร์หลัก 2 แห่งในท่าเรือพิเรอุสเป็นเวลา 35 ปีแล้วในปี 2559 คอสโกยังเทคโอเวอร์การท่าเรือพิเรอุส รวมทั้งท่าเทียบตู้คอนเทนเนอร์แห่งที่ 3 ที่เหลืออยู่ไปจนถึงปี 2595
นอกจากนี้กรีซยังลงนามในโครงการ “สายแถบและเส้นทาง” ของจีน ที่จีนทุ่มลงทุนทั่วโลก 1 ล้านล้านดอลลาร์ หวังเปิดตลาดสินค้าจีนให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ข้ามภูมิภาคระหว่างกรีซกับจีนถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว