ปี 2563 ไทยผุดศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางรถยต์ ปูทางสินค้าไทยมาตรฐานสากล
สมอ. เดินหน้าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ลุย เฟส 2 ลงทุนกว่า 2.8 พันล้านบาท หนุนวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เมื่อเดือนมี.ค. 2559 ภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท รัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ เขตสวนป่าลาด กระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
โดย โครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบ ยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งในระยะที่ 1 ได้ก่อสร้างเสร็จ และเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นการทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ประกอบด้วยสนามทดสอบยาง ล้อ และเครื่องมือทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 ทดสอบรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน (Noise) การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก (Wet Grip) และความต้านทานการหมุน (Rolling Resistance) ของยางล้อ โดย สมอ. ได้รับการรับรองสนามทดสอบจาก APPLUS+ IDIADA ประเทศสเปน สนามทดสอบเป็นไปตามมาตรฐาน UN R117 และพื้นผิวสนามทดสอบเสียงเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 10844:2014 ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
"หลังจากที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ได้เปิดให้บริการมาประมาณ 3 เดือน มีผู้มาใช้บริการผลิตล้อยางรถยนต์แล้ว 14 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานของไทย มีการทดสอบล้อยางไปแล้ว 83 ชุดตัวอย่าง ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ผลิตไทย และในอนาคตมั่นใจว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ"
ส่วนในระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน จะใช้งบก่อสร้าง 2.8 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณปี 2563 จำนวน 467 ล้านบาท และปี 2564 อีก 393 ล้านบาท และในปี 2564-2565 จะของบประมาณอีก 2 พันล้านบาท โดยในระยะที่ 2 จะประกอบด้วยสนามทดสอบ 5 สนาม คือ 1. สนามทดสอบสมรรถนะยานยนต์ 2. สนามทดสอบระบบเบรก 3. สนามทดสอบระบบเบรกมือ 4. สนามทดสอบเชิงพลวัต และ 5. สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง และเครื่องมือทดสอบตามมาตรฐาน รวม 19 รายการ
โดย สมอ. ดําเนินการปรับพื้นที่และออกแบบก่อสร้างเสร็จแล้ว แผนดําเนินงานโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สมอ. จะก่อสร้างสนามทดสอบ 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรก สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบเชิงพลวัต และ สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง และจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบเข็มขัดนิรภัย จุดยึดที่นั่ง ที่นั่ง และ พนักพิงศีรษะสําหรับยานยนต์ พร้อมเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพ.ค. 2563 และแล้วเสร็จในปี 2564 สําหรับโครงการส่วนที่เหลือ สมอ. เร่งดําเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2566 ต่อไป
“ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เป็นกลไกสําคัญในการช่วยเร่งรัดการพัฒนาการ มาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้ประเทศ ไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราให้เข้า มาลงทุนในประเทศไทย ทําให้ปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มมากขึ้น ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของ เกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืนต่อไป”