หน้ากาก 'PM2.5' จำเป็นต่อ ‘สัตว์เลี้ยง’ แค่ไหน
ไขข้อข้องใจ "สัตว์เลี้ยง" จำเป็นต้องสวมหน้ากากกันฝุ่น "PM2.5" มากน้อยแค่ไหน พร้อมเปิดวิธีดูแลสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ และ "ไวรัสโคโรน่า"
นอกจากมลภาวะทางอากาศ และ PM2.5 จะกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของมนุษย์แล้วยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์หลายประเทศเริ่มสำรวจผลกระทบด้านลบของมลพิษทางอากาศต่อสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่โน้มไปในทางเดียวกันว่าคุณภาพอากาศที่ไม่ดีต่อมนุษย์ ย่อมไม่ดีสำหรับสัตว์เลี้ยงเช่นกัน
บรรดาคนรักสัตว์อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า สัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากมลภาวะเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ในฐานะมนุษย์เพื่อนยาก จะดูแลปกป้องสัตว์เลี้ยงจากมลภาวะที่เลวร้ายได้อย่างไร แล้วหน้ากากอนามัยสำหรับสุนัขมีความจำเป็นแค่ไหน แล้วสามารถช่วยให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษขนาดจิ๋วได้จริงหรือไม่
น.สพ.ณฐวุฒิ คณาติยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงพรีเมียร์ ช่วยตอบคำถามเหล่านี้ให้คลายสงสัย โดยอธิบายภาพรวมของผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศรวมถึง PM 2.5 ว่า เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์อื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งสัตว์ต่างๆ จะได้รับจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับกลไกร่างกายของสัตว์แต่ละชนิด
สุนัขและแมว มีโอกาสได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย แต่อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าสัตว์ที่มีการเมทาบอลิซึมสูง (ระบบเผาผลาญ) ที่มักจะหายใจถี่กว่า เช่น ลูกสัตว์ชนิดต่างๆ หนู หรือ นก
สำหรับสุนัขและแมว มีโอกาสได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย แต่อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าสัตว์ที่มีการเมทาบอลิซึมสูง (ระบบเผาผลาญ) ที่มักจะหายใจถี่กว่า เช่น ลูกสัตว์ชนิดต่างๆ หนู หรือนก
โดยสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูง คือ สัตว์ปีกที่มีการหายใจเข้าออกที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือหายใจนำลมเข้าไปไว้ที่ถุงลมก่อนที่จะปล่อยลมผ่านเข้าไปในปอด ลักษณะการหายใจแบบที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนอากาศโดยตรงแบบทันทีทันใดทำให้มลพิษที่เข้าไปพร้อมอากาศถูกเก็บไว้ในร่างกายมากกว่า และอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเช่นกัน
- อาการของสัตว์ที่ตอบสนองต่อฝุ่นพิษ
การแสดงออกของสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นและมลภาวะทางอากาศที่เห็นได้ชัดเจน คือ การจาม ที่เกิดขึ้นได้ กับสัตว์แทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นก หรือกระต่าย
อีกหนึ่งลักษณะอาการ คือ การกินน้ำบ่อยขึ้นของสัตว์ โดยในกรณีที่พื้นที่ที่อยู่มีมลภาวะทางอากาศหนาแน่นจะทำให้รู้สึกคอแห้งเจ็บคอได้เช่นเดียวกับมนุษย์
พฤติกรรมส่วนตัวของสัตว์เปลี่ยนไป หรือแสดงอาการที่ไม่เคยทำมาก่อน อาการเหล่านี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น นกมีอาการจามบ่อย ไม่ค่อยร้องเพลง ไม่ชอบส่งเสียงเหมือนเดิม สุนัข เหนื่อยง่ายขึ้น แม้ใช้แรงเท่าเดิม อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม
อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลกระทบจากฝุ่นเพียงอย่างเดียว อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน เช่น ปัญหาทางสุขภาพที่สัตว์มีอยู่เดิม ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย
เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น นกมีอาการจามบ่อย ไม่ค่อยร้องเพลง
ไม่ชอบส่งเสียงเหมือนเดิม สุนัข เหนื่อยง่ายขึ้น แม้ใช้แรงเท่าเดิม อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม
- สัตว์เลี้ยงต้องใช้หน้ากาก PM2.5 ไหม
หลังจากที่สถานการณ์ฝุ่นรุนแรงขึ้น คนเลี้ยงสัตว์เริ่มมองหาไอเทมตัวช่วยป้องกันฝุ่นให้สัตว์เลี้ยง เช่นเดียวกับด้านผู้ประกอบการที่เริ่มออกผลิตภัณฑ์หน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ออกมาให้เห็น มีราคาเริ่มต้นที่ราว 300-500 บาท (ต่อ 3 ชิ้น) ขึ้นอยู่กับขนาดของหน้ากาก
ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง และรูปแบบหน้ากากที่จำกัด (มีเฉพาะสำหรับสุนัขหน้ายาว) ทำให้เกิดคำถามหน้ากากเหล่านี้ช่วยป้องกันสุขภาพของสัตว์เลี้ยงจากฝุ่นได้แค่ไหน และหากไม่มีหน้ากากสำหรับสัตว์ควรดูแลสัตว์ หรือป้องกันความเสี่ยงให้สัตว์เลี้ยงได้ด้วยวิธีใดได้บ้าง
น.สพ.ณฐวุฒิ อธิบายว่า สำหรับการใช้หน้ากากอนามัยกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สำหรับสุนัข มีส่วนช่วยป้องกันฝุ่นได้ ในกรณีที่สุนัขอยู่ในสภาวะที่มีฝุ่นหนาแน่น อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพการป้องกันฝุ่นขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น ลักษณะวัสดุที่ใช้ การออกแบบของผลิตภัณฑ์ให้แนบชิดกับปากของสุนัขได้จริง เพราะหากหน้ากากติดขนบริเวณปากอาจทำให้ฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากอย่าง PM 2.5 เล็ดลอดเข้ามาตามเส้นขนได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้หน้ากากป้องกัน PM 2.5 กับสุนัขอาจมีผลกระทบบางอย่างที่ทำให้ไม่ได้ผล เช่น สุนัขรู้สึกรำคาญและพยายามถอดหน้ากากนั้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสุนัขไม่สามารถรับรู้ได้ว่าควรปรับการหายใจอย่างไรให้เหมาะสม ขณะเดียวกันการปิดบริเวณจมูกหรือปากของสุนัขอาจทำให้หายใจได้ลำบากกว่าปกติ ทำให้สุนัขหายใจถี่ขึ้น มีอาการตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา หรืออาจเกิดความเครียดสำหรับสุนัขบางตัวที่ไม่ชอบให้สวมใส่อะไรบนร่างกาย
การใช้หน้ากากป้องกัน PM 2.5 กับสุนัขอาจมีผลกระทบบางอย่างที่ทำให้ไม่ได้ผล เช่น สุนัขรู้สึกรำคาญและพยายามถอดหน้ากากนั้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสุนัขไม่สามารถรับรู้ได้ว่าควรปรับการหายใจอย่างไรให้เหมาะสม ขณะเดียวกันการปิดบริเวณจมูกหรือปากของสุนัขอาจทำให้หายใจได้ลำบากกว่าปกติ ทำให้สุนัขหายใจถี่ขึ้น มีอาการตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา หรืออาจเกิดความเครียดสำหรับสุนัขบางตัวที่ไม่ชอบให้สวมใส่อะไรบนร่างกาย
อย่างไรก็ตามในมุมมองของสัตวแพทย์เห็นว่าแม้จะไม่มีหน้ากาก PM2.5 สำหรับสัตว์ ก็มีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากฝุ่นเข้าสู่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงได้หลากหลายวิธี ที่อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์หน้ากากสวมใส่บริเวณจมูกของสุนัขโดยตรง ดังนี้
- ปรับสิ่งแวดล้อมในบ้าน เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่มปลูกต้นไม้โดยเฉพาะบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่ เลือกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศ และช่วยลดอุณหภูมิ เช่น พลูด่าง
- ช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นยังรุนแรง แนะนำให้เลี้ยงสัตว์อยู่ในบ้านที่อากาศปิด ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ดีกว่า
- ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ เพื่อเป็นตัวช่วยในการปรับคุณภาพอากาศภายในบ้านให้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการพาสัตว์เลี้ยงไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น การพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น หรืออกออกกำลังกายกลางแจ้ง ในช่วงที่สภาพอากาศเป็นพิษ
- ผู้เลี้ยงต้องคอยสังเกตกิริยาอาการของสัตว์ ว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม้ เช่น เซื่องซึม ไม่แอคทีฟ เบื่ออาหาร ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นหรือมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ เพื่อให้สามารถปรึกษาแพทย์ได้ทันท่วงที
- ในกรณีที่ตรวจร่างกายแล้วพบกันอักเสบ สามารถเสริมอาหารที่มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์เลี้ยงได้โดยการเพิ่มสารต้านอนุมูนอิสระ อย่างวิตามินซี วิตามินเอ ซึ่งมีส่วนช่วยลดการอักเสบได้ สำหรับสัตว์ที่กินพืชจะสามารถรับวิตามินซีและเอจากการกินพืชผักผลไม้บางชนิดอยู่แล้ว ส่วนในสัตว์กินเนื้อ ผู้ดูแลสามารถเพิ่มวิตามินเหล่านี้ผ่านผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ ที่มีโอเมก้า 3 หรือโอเมก้า 6 ได้เช่นกัน
- ไวรัส “โคโรน่า” เสี่ยงติดสัตว์เลี้ยงหรือไม่
สำหรับข้อกังวลเรื่องไวรัสโคโรน่าที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ น.สพ.ณฐวุฒิ แนะนำว่า ไวรัสประเภทนี้เป็นไวรัสที่สามารถพัฒนาตัวเองไปได้เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ในสิ่งที่พวกมันอาศัยอยู่
จากการสันนิษฐานที่ว่าไวรัสโคโรน่ามาจากสัตว์อย่างค้างคาว แล้วแพร่เชื้อโรคมาสู่คน ปัจจุบันไวรัสเหล่านี้พัฒนาจนสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้แล้ว การจะพัฒนาไวรัสจากคนมาติดสัตว์อีกครั้งหนึ่งจึงมีโอกาสเป็นไปได้แต่อาจจะต้องผ่านไปหลายเจนเนอเรชั่น ซึ่งยังสามารถตอบได้ เพราะยังไม่การศึกษาแน่ชัด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ควรลดการนำสัตว์เลี้ยงไปร่วมงานที่มีการรวมตัวกันของสัตว์ หรือสัตว์เลี้ยงจำนวนมากๆ เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่าสัตว์เลี้ยงถูกใครสัมผัสมาก่อนหน้านี้ และได้รับไวรัสมาด้วยหรือไม่
“สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดโดยไม่ตื่นตระหนก ดูแลตัวเอง และสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกันทั้งจาก PM 2.5 และการติดต่อของไวรัสโคโรน่าได้ในระดับหนึ่ง” น.สพ.ณฐวุฒิ กล่าว