ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ปั้นสินค้าการแพทย์
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอยู่ในภาวะซบเซามาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นจากความได้เปรียบต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตามสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก็ได้เ
ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2562 ที่ปรับตัวลดลง 3.3% ในทางกลับกันพบว่า สิ่งทอทางการแพทย์ หรือ Meditech ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีทิศทางการเติบโตทางการตลาดค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทางการค้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 - 2562 จะพบว่า มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เชิงป้องกันที่ต้องใช้งานทุก ๆ วัน มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกอยู่ในอันดับที่ 1 จากทุกรายการสินค้าในกลุ่ม Meditech โดยในปี 2562 พบว่า มีปริมาณการส่งออก 64,930 ตัน และมีมูลค่าการส่งออก 279.26 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 13,724.45 ต้น หรือที่มูลค่า 48.53 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะด้านปริมาณการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.3% ซึ่งเป็นผลจากปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการนำเข้าสิ่งทอทางการแพทย์เพิ่มขึ้น มาจากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร ทั้งจากอัตรการเกิด และช่วงอายุประชากรที่ยาวขึ้น บวกกับสถานการณ์โรคภัยต่าง ๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยมีแนวโน้มการนำเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงได้เร่งประสานงานเพื่อเชื่อมโยง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถานพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมข้อมูลความต้องการใช้ วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน
โดยสิ่งทอที่ใช้ทางการแพทย์ มีทั้งสิ่งทอที่ใช้ในสถานพยาบาล เช่น เอ็นเย็บแผล ผ้ากอช ผ้าพันแผล เสื้อคลุมและหน้ากากสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด ผ้าที่ใช้ประคบแผล ผ้าที่เชื่อมกระดูก เป็นต้น และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากกันฝุ่นรุ่นต่าง ๆ ถุงน่องกระชับรักษาเส้นเลือดขอด เสื้อผ้ากระชับกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้ จะสนับสนุนสินค้าที่มีส่วนผสมของสิ่งทอที่หาซื้อได้ง่ายและสามารถใช้ในการแพทย์ได้และมีความต้องการใช้ทุกวัน เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ทิชชู่เปียก ผ้าหรับเด็กอ่อน เป็นต้น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในวงการแพทย์ ในการดำเนินชีวิต รวมทั้งปรับเปลี่ยนนวัตกรรมรองรับการเติบโต New S-Curve นับเป็นความท้าทาย ที่ทุกภาคส่วนต้องเชื่อมโยงและร่วมมือกัน
“ในปี 2563 นี้ สถาบันฯ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวรุ่ง พร้อมดันผู้ประกอบการสิ่งทอไทยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์มุ่งสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสิ่งทอเพื่อการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนได้”
ไชยยศ รุ่งเจริญชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพอร์มา ครอปเปอร์เรชั่น จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อยู่ในธุรกิจสิ่งทอแบบเดิมที่มีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้นจึงได้ปรับธุรกิจไปสู่การผลิตสิ่งทอเพื่อการแพทย์ โดยได้ใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่ง ทุ่มงบวิจัยและการผลิตสินค้าต้นแบบกว่า 50 ล้านบาท เพื่อผลิตเส้นใยโพลีเอสเทอร์ผสมนาโนซิงค์ที่มีมีคุณสมบัติในการกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย จากนั้นนำเส้นใยที่ได้นำไปผลิตสิ่งทอทางการแพทย์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัยป้องกันแบคทีเรีย กางเกงชั้นในบรรเทาอาการติดเชื้อในช่องคลอด ผ้าปูที่นอนในโรงพยาบาลที่ป้องกันการเปิดแผลกดทับ ผ้าพันแผลดการติดเชื้อในผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่เติบโตบนแผล เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้นำเข้าไปทดสอบในโรงพยาบาลชั้นนำ พบว่าผู้ป่วยเบาหวานแผลหายเร็วขึ้น ลดการสูญเสียอวัยวะ
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ปรับไปสู่การผลิตสิ่งทอทางการแพทย์ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นมาก เนื่องจากราคาต่อชิ่นเมื่อเทียบกับสิ่งทอธรรมดา จะมีราคาสูงกว่า 2-3 เท่าตัว ซึ่งเทคโนโลยีที่เราคิดค้นถือได้ว่าเป็นรายแรกของไทย และเป็นรายต้นๆของโลกที่ใช้เทคโนโลยีนาโนซิงค์ ที่มีความปลอดภัยสูงกว่าเทคโนโลยีอื่น
นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้ร่วมกับเครือสหพัฒน์ผลิตสินค้าเสื้อผ้า ชุดนอน เครื่องนอนป้องกันเชื้อดื้อยา ถุงเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อขยายสินค้าของเราไปสู่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป เพื่อยกระดับสุขภาพอนามัยในครัวเรือน รวมทั้งนำไปใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีขึ้น
“เทคโนโลยีที่เราคิดค้นได้เป็นนวัตกรรมในการฉีดเส้นไยให้ผสมนาโนซิงค์ให้กระจายทั่วเส้นใยทั้งหมด ทำให้มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสินค้ากลุ่มนี้หากนำเข้าจะมีราคาแพงมาก ซึ่งสินค้าของบริษัทฯมีราคาต่ำกว่า 2-3 เท่าตัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก”