กกพ.หนุนใช้ 'แซนบ็อกซ์' ปูทางซื้อขายไฟเสรี
กระแสของผู้บริโภค ที่กลายเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) ที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต แต่ยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างถูกต้อง ทำให้ กกพ.ต้องศึกษาวิธีดำเนินการในประเทศต่างๆ เพื่อเตรียมปรับระเบียบและกติกาให้เอื้อต่อการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ
รูปแบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทยและทั่วโลกที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีพลังงาน และผสมผสานกับการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าผ่านโลกออนไลน์
ทำให้ปัจจุบันจะเห็นผู้บริโภค กลายเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) และการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน (Peer to Peer หรือ P2P) มากขึ้น จากอดีตมีเพียง ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่และรายเล็ก เช่น IPP,SPP และVSPP เท่านั้น
ด้วยพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องศึกษารูปแบบและวิธีดำเนินการในหลายประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบัน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ยังไม่สามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆได้
กกพ.จึงได้เดินทางมาศึกษาดูงานโครงการทดสอบภายใต้โครงการ Sandbox สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer ของบริษัท Kansai Electric Power ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 17% เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้า 34 กิกะวัตต์ และได้นำใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า
ฟูมิอากิ อิสชิดะ ผู้จัดการทั่วไป ห้องปฏิบัติการใช้พลังงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนา Kansai Electric Power เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tarif (FiT) จากจากแผงโซลาร์เซลล์ของญี่ปุ่น มีแนวโน้มถูกลงต่อเนื่อง จากอดีตรับซื้ออยู่ที่ 48 เยนต่อหน่วย หรือประมาณ 13-14 บาท ปัจจุบันเหลือ 18 เยนต่อหน่วย หรือประมาณ 5-6 บาท และในอนาคตจะเหลือ 8 เยนต่อหน่วย หรือ ประมาณ 2-3 บาท เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นๆ
โดยในปี 2562 มีผู้ผลิตไฟฟ้าแผงโซลาร์เซลล์ กำลังผลิตรวม 3 กิกะวัตต์ หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าลง และเหลืออีก 1 กิกะวัตต์ที่ใกล้จะหมดอายุลง ขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้าจะหมดอายุอีก 2 กิกะวัตต์
ดังนั้น มี 3 ทางเลือกสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า คือ 1.ขายไฟให้กับผู้ซื้อรายใหม่ แต่จะเหลือราคา 8 เยนต่อหน่วย 2.ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง แทนการซื้อไฟฟ้าใช้ ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 24 เยนต่อหน่วย แต่ก็ยังต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เสริม เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งจะมีต้นทุนสูงขึ้น และ3.ซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ ทำให้รายย่อยสามารถซื้อขายได้สะดวก และราคาเหมาะสม เพราะเป็นการตกลงราคาที่พึงพอใจ ในหลายรูปแบบ เช่น การบิดดิ้ง
“สัญญารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จะหมดลง 10 ปีข้างหน้า บริษัทก็เลยนำรูปแบบ P2P มาเสนอเป็นทางเลือก หากราคา FiT ถูกลง ทาง Kansai คาดว่าจะสามารถนำรูปแบบ P2P มาใช้ได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า”
ฟูมิอากิ กล่าวอีกว่า การซื้อขายไฟฟ้าในญี่ปุ่น ยังมีอุปสรรคด้านกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศไทย คือ Prosumer ยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก (Grid) ได้ ดังนั้น บริษัท จึงได้จัดทำโครงการ Sandbox ขึ้น เพื่อทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ของบริษัท ซึ่งระบบนี้ในทางเทคนิคไม่มีปัญหา แต่ยังมีปัญหาเรื่องของ Grid อุตสาหกรรม และต้นทุนการเงิน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าตลาดค้าปลีกรายย่อยรูปแบบดังกล่าว
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน Prosumer ในประเทศไทยยังมีปริมาณไม่มาก แต่ต่อไปหากมีจำนวนเพิ่มขึ้นและยังต้องพึ่งพาโดยเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าหลัก (Grid) ก็อาจต้องมีการจัดเก็บค่าบริการต่างๆ เพื่อดูแลไม่ให้ระบบหลักและผู้บริโภคโดยรวมเสียประโยชน์ แต่การจะปลดล็อคข้อกฎหมายในทันทีนั้น อาจจะกลายเป็นปัญหาย้อนกลับมาในภายหลังได้
ดังนั้น กกพ.จึงดำเนินภายใต้โครงการ ERC Sandbox เพื่อทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง ซึ่งจะเป็นการติดตามดูพฤติกรรมของผู้บริโภคและผลกระทบต่อระบบว่าจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
โดย กกพ.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน มี.ค.นี้ ขอความเห็นชอบการยกเว้นนโยบาย Enhancing Single Buyer ที่กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ภายใต้การนำร่องผ่านโครงการ ERC Sandbox ก่อน
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ย.2562 กกพ. ประกาศผลพิจารณาคัดเลือกโครงการ ERC Sandbox มีผู้ผ่านการพิจารณาได้รับสิทธิเข้าร่วม 34 โครงการ จำนวนนี้เป็นโครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย
นอกจากนี้ กกพ.ยังดูงานโซลาร์ฟาร์มของกลุ่ม Kansai ที่เมือง Sakai ภายใต้ชื่อ Sakai Solar Power Station ขนาด 10 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กำจัดกากอุตสาหกรรม โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 74,000 แผง ซึ่งใช้งานมาแล้ว 10 ปี จากอายุการใช้งาน 20 ปี ทำให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางที่เหมาะสมในการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ โดยญี่ปุ่นได้นำนโยบายให้มีการสะสมเงินเข้ากองทุนเพื่อรองรับการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุที่จะออกมาเป็นจำนวนมากในอีก 10 ปีข้างหน้า