'เราไม่ทิ้งกัน' เงินเข้าล็อตแรก อาชีพไหนได้บ้าง แล้วทำไม 'ขายของออนไลน์' ถึง 'อด' !?
วันแรกของการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท จาก "www.เราไม่ทิ้งกัน.com" ล็อตแรกมีอาชีพอะไรได้บ้าง พร้อมตอบคำถามคาใจ "ทำไมผู้ค้าออนไลน์" ถึงไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ !?
วันนี้ (8 เม.ย.) คือ วันแรกของการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท จากการลงทะเบียน "www.เราไม่ทิ้งกัน.com" ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินกันไปแล้วส่วนหนึ่งนั้น
จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงการคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด "โควิด-19" ที่จะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทว่า ล็อตแรกที่ผ่านการตรวจสอบแล้วมีทั้งสิ้น 1.68 ล้านคน จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 24.28 ล้านคน
โดยในจำนวน 1.68 ล้านคนที่จะทยอยได้รับเงินในล็อตแรกนี้ แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มอาชีพ ได้แก่
1. ค้าขาย ผ่านการคัดกรองแล้ว 600,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 6.3 ล้านราย
2. รับจ้างทั่วไป ผ่านการคัดกรองแล้ว 400,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 11.7 ล้านราย
3. มีนายจ้าง ผ่านการคัดกรองแล้ว 400,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.9 ล้านราย
4. ขับรถรับจ้าง ผ่านการคัดกรองแล้ว 100,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 3 แสนราย
5. อาชีพอิสระอื่นๆ ผ่านการคัดกรองแล้ว 100,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.7 ล้านราย
6. ขายล็อตเตอรี่ ผ่านการคัดกรองแล้ว 20,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 2 แสนราย
7. มัคคุเทศก์ ผ่านการคัดกรองแล้ว 10,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 3 หมื่นราย
8. ค้าขายออนไลน์ ผ่านการคัดกรอง 0 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 2,100,000 ราย
ทั้งนี้ นายลวรณ ได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสงสัยถึงเกณฑ์การคัดกรองว่า สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับเงินในล็อตแรกนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด เพราะการคัดกรองทั้งหมดยังไม่เสร็จสิ้น โดยแต่ละคนใช้เวลาในการคัดกรองที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของ "ผู้ค้าออนไลน์" ที่กรอกข้อมูลลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com มากถึง 2.1 ล้านราย แต่ไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์เลยแม้แต่คนเดียวนั้น นายลวรณ ได้กล่าวอธิบายว่า หลักเกณฑ์การเยียวยาในครั้งนี้ "ไม่ครอบคลุมผู้ค้าออนไลน์" เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สั่งปิดสถานประกอบการหรือร้านค้าออนไลน์ใดๆ ขณะเดียวกันระบบโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าก็ยังดำเนินการได้ตามปกติ ฉะนั้น จึงไม่ถือว่า ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ "โควิด-19"