ห่วงเด็กยากจนด้อยโอกาสความรู้ถดถอย
สถาบันวิจัย กสศ. ห่วงเด็กยากจนด้อยโอกาสความรู้ถดถอย หลังปิดเทอมนานขึ้น เผยข้อมูล OECD ระบุหลายประเทศเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงดิจิตัล ชี้ฟรีทีวีและมือถือเป็นตัวเลือกการศึกษาออนไลน์ที่แม้คนยากจนก็เข้าถึงได้
วันที่(13 เม.ย.2563) ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. รายงานว่า สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ทำให้นักเรียนจำนวนกว่า 1.57 พันล้านคน จากกว่า 188 ประเทศ หรือคิดเป็น 91.3% ของผู้เรียนทั่วโลกต้องออกนอกโรงเรียนและหันไปสู่การศึกษาในรูปแบบนอกห้องเรียนแบบต่างๆ
การที่นักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งการที่นักเรียนต้องอยู่บ้านนานๆ ยิ่งทำให้เกิดการลืมเลือนสิ่งที่เคยเรียนมา ทำให้ต้องมาทบทวนกันใหม่ซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าปรากฎการณ์ความรู้ถดถอยไปหลังจากปิดเทอมใหญ่
“จากงานวิจัยพบว่าการที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ อาจจะทำให้ความรู้ของเขาหายไปถึงครึ่งปีการศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส หรือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านต่างๆ เด็กที่ต้องพึ่งพิงอาหารเช้า อาหารกลางวันจากทางโรงเรียน ผู้ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด เด็กกลุ่มยากจนและเปราะบาง ผู้ขาดแคลนทรัพยากร ไม่มีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมในบ้านมีปัญหา เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว ถือว่าได้รับผลกระทบนี้ที่มีความรุนแรงและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ระบบการศึกษาหลายแห่งในโลกหันไปใช้ระบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราว แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือระบบการศึกษาและระดับสาธารณูปโภคพื้นฐานแต่ละประเทศแตกต่างกัน
ประเทศที่ต้องปิดโรงเรียนกลุ่มแรกๆ เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ อิตาลี หรือสหรัฐอเมริกาพบว่าแม้แต่ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้วก็ยังมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ระหว่างนักเรียนหรือโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสกับโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่ไม่น้อย
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวต่อไปว่า องค์กร OECD ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้จัดทำกรอบแนวทางสำหรับภาคการศึกษาในการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ COVID-19 (A framework to guide an education response to the COVID-19 Pandemic of 2020)
โดยการใช้ข้อมูลการสำรวจของ OECD สำหรับนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนกว่า 600,000 คน จาก 79 ประเทศทั่วโลกในปี 2018 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมในการสำรวจครั้งนี้ด้วย พบว่ามีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ เช่น สถานที่ในบ้านไม่เอื้ออำนวยสำหรับเรียนหนังสือ การขาดอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียน
พบว่ามีเด็กไทยที่เข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และ แท็ปเล็ต 57.8% และ 43.4% ตามลำดับ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ นักเรียนของเขาจะมีการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่านักเรียนไทย ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกามีการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และแท็ปเล็ต 88.6% และ 79.2% สิงคโปร์ 89.3% และ 76.7% เสปน 89% และ 84% อิตาลี 89.3% และ79% ตามลำดับ ซึ่งประเทศเหล่านี้แม้จะต้องอยู่ในสถานการณ์ของการปิดโรงเรียนแต่นักเรียนก็มีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้ในสัดส่วนที่สูงอยู่มาก
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ปัจจัยหนึ่งคือการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เนต จากการสำรวจพบว่านักเรียนอายุ 15 ปี ที่บ้านมีการเข้าถึงสัญญานอินเตอร์เนต มีประมาณ 81.6 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามหากแบ่งตามระดับเศรษฐฐานะของนักเรียน พบว่า นักเรียนในกลุ่มเศรษฐฐานะล่างสุดเพียง 57% ที่บ้านมีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เนต อาจเป็นเพราะไม่มีเงินสำหรับสมัครสมาชิกอินเตอร์เนตหรืออยู่ในบริเวณห่างไกลกว่าที่จะมีสัญญาณเข้าถึง
ซึ่งในทางแก้ก็มีหลายประเทศที่ใช้การจัดสรรอุปกรณ์ Wifi แบบพกพา ให้กับนักเรียนที่บ้านไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เนตได้ หรือจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ครัวเรือนยากจนมีเงินในการสมัครบริการอินเตอร์เนต เป็นต้น ทั้งหมดนี้นับเป็นความเหลื่อมล้ำแบบหนึ่งโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะดีมีความพร้อม กับครัวเรือนที่ยากลำบาก สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจหรือการสังเกตอื่นๆ ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางดิจิตัล (Digital Divide)
อย่างไรก็ตาม พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ในทุกระดับเศรษฐฐานะจะสามารถเข้าถึงโทรทัศน์ หรือโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนได้ไม่ยากนัก ผลสำรวจของOECD ระบุว่า นักเรียนไทยมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนค่อนข้างมาก คือ ประมาณ 86.1% เมื่อจำแนกตามกลุ่มเศรษฐฐานะก็พบว่าแม้แต่เด็กในกลุ่มที่ยากจนที่สุดถึงเกือบ 80% ยังมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้
นับว่าอาจจะเป็นอุปกรณ์ที่เด็กไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายในกรณีที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ดังนั้นหากมีการประยุกต์แนวทางการเรียนการสอน หรือเนื้อหาให้ถ่ายทอดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนในแบบทางไกลได้ ภาครัฐหรือโรงเรียนหรือผู้พัฒนาระบบดิจิตัลแพล็ตฟอร์มในไทยน่าจะได้พิจารณาพัฒนาระบบการเรียนรู้ผ่านทางมือถือและขยายผลการใช้ให้มากขึ้นหากหวังในเรื่องของการเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์โดยทั่วถึง
“หากต้องการเผยแพร่ข้อมูลทางการศึกษาแบบทางไกลในประเทศไทย สื่อเช่น โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาจจะเป็นอีกช่องทางที่สามารถเข้าถึงเด็กจำนวนมากได้ โดยมีต้นทุนที่ต่ำและยุ่งยากน้อย หลังพบว่าประเทศส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะสามารถเข้าถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากที่สุด” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว
รวมถึงโทรทัศน์ที่มักจะต้องมีในทุกบ้าน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบใดก็ตามในการเรียนการสอนช่วงวิกฤติ COVID-19 สิ่งที่สำคัญคือ การเลือกให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุด ข้อสำคัญ ควรช่วยกันคิดต่อไปว่าสำหรับนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มการศึกษาพิเศษ ผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องในการเรียนรู้ นักเรียนในกลุ่มเด็กเล็กที่พ่อแม่หรือผู้ปกครอง
ไม่สามารถเลี้ยงได้เนื่องจากต้องออกไปทำงานหาเงิน นักเรียนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ไม่เกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ มีความรุนแรงในครอบครัว ทางโรงเรียน หรือทางภาครัฐ หรือองค์กรที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนต่างๆ ในสังคมควรจะทำอย่างไร เนื่องจากเด็กในกลุ่มเหล่านี้คงต้องการการสนับสนุนแบบพิเศษและมิอาจรอคอยสภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้นาน