นายกฯ ถก 'อาเซียนนัดพิเศษ' จับมือจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี สู้โควิด-19

นายกฯ ถก 'อาเซียนนัดพิเศษ' จับมือจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี สู้โควิด-19

"ประยุทธ์" ร่วมประชุม "อาเซียนนัดพิเศษ" ในวันนี้ ประชุมผ่านคอนเฟอเรนซ์ ลงนามปฏิญญา 2 ฉบับ ยกระดับจับมือจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี สู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 63 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสมัยพิเศษของผู้นำอาเซียนเพื่อหารือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และจากนั้นเวลา 14.00 น. จะร่วมประชุมสมัยพิเศษของผู้นำอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อหารือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ซึ่งทั้ง 2 ช่วง จะเป็นการผ่านระบบ Video Conference ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะนั่งประชุมอยู่ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เชื่อมสัญญาการประชุมไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียนบวกสามผลจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จะมีการรับรองปฏิญญาร่วม 2 ฉบับ ซึ่งจะยืนยันถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ในการป้องกันและกำจัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่คุกคามชีวิตของผู้คน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก

สำหรับการประชุมเป็นประจำทุกปีที่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะร่วมประชุมกันปีละ 2 ครั้ง แต่เนื่องด้วยขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ ทุกประเทศในอาเซียนได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในภูมิภาคเพิ่มขึ้น และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมที่เมื่อรวมกันในภูมิภาคอาเซียนแล้วมีจำนวนถึงกว่าหนึ่งหมื่นคน ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องให้จัดการประชุมทางไกลแทน โดยในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม การประชุมอาเซียนบวกสามดังกล่าวเกิดจากข้อเสนอของจีนในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ เวียงจันทน์ ที่จะให้มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ให้ความเห็นว่าอาจพิจารณาจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียนในการแสวงหาความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม



ทั้งนี้ในปี 2563 เวียดนามรับไม้ต่อการเป็นประธานอาเซียนต่อจากไทย โดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามจะกล่าวเปิด ในฐานะประธานการประชุมฯ และจะเชิญผู้นำประเทศสมาชิกที่เหลือกล่าวเรียงลำดับตามตัวอักษรชื่อประเทศ โดยจะกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีบรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 ทรงกล่าวถ้อยแถลงเป็นพระองค์แรก ในเวทีนี้ ผู้นำอาเซียนจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการรับมือด้านสาธารณสุข ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน ทั้งในภูมิภาคและกับภาคีภายนอก ซึ่งแต่ละประเทศในอาเซียนได้มีการเฝ้าระวัง ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยการเพิ่มมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล Social Distancing หรือ Physical Distancing สำหรับประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำเนินการกำหนดมาตรการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือและดูแลทุกด้าน อาทิ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง ด้านการควบคุมสินค้า ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้านการต่างประเทศ และด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤต พร้อมทั้งได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานเพื่อชะลอ และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค