'เพื่อไทย' ออกแถลงการณ์ กรณีโควิด-19 รบ.ออกกฎหมายใช้เงิน 1.9 ล้านล้าน
พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ กรณีโควิด-19 รัฐบาลออกกฎหมายใช้งบแก้ปัญหาวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ต่อการที่คณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนด เพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสถานการณ์ โควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นมาตรการการคลังจำนวน 1.0 ล้านล้านบาท และมาตรการการเงินจำนวน 9 แสนล้านบาท ด้วยการออกเป็น พระราชกำหนดรวม 3 ฉบับ นั้น
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า วิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน ทั้งด้านการสาธารณสุข เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตอันเป็นปกติของมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งระบบ ดังกล่าว เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกระทำ ด้วยวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบตามหลักการการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี
การที่รัฐบาลระบุจำนวนเงินที่จะรองรับในเรื่องนี้ สูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระผูกพันกับประเทศชาติและประชาชนต่อไปในระยะยาวนั้น พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขอทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชน ในการเสนอความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการใช้เงิน และความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนในการใช้เงินดังกล่าว โดยแยกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
1. การได้มาซึ่งเงิน
1.1 เงินในส่วนมาตรการการคลัง ที่ต้องใช้สูงถึง 1.0 ล้านล้านบาทนั้น แทนที่รัฐบาลจะมีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ให้เป็นรูปธรรมได้เท่าใด กลับเลือกวิธีการที่ง่ายและขาดรายละเอียดแทน อันจะเป็นการสร้างภาระให้กับประเทศชาติ และลูกหลานไทยในอนาคตมากที่สุด หากกู้เงินเต็มจำนวนทั้ง 1.0 ล้านล้านบาท พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงงบประมาณที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 โดยตัดทอนหรือเลื่อนการใช้จ่ายเงินออกไปก่อน เป็นจำนวน 10% - 15% เชื่อว่าจากวิกฤติโควิด-19 บวกกับสภาวะเศรษฐกิจของโลกในช่วงนี้ คู่ค้าที่เป็นมิตรประเทศทั่วโลกจะเข้าใจ และยินดีที่จะขยับปรับเลื่อนให้ ซึ่งถ้ารัฐบาลนำวิธีการนี้ไปปฏิบัติในทันที น่าจะได้เงินกลับคืนมาเกือบ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องโควิด-19 ได้ก่อน อันจะทำให้วงเงินที่จะต้องกู้ในส่วนนี้เหลือเพียง 5 แสนล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลไม่สามารถปรับลดงบประมาณฯ ได้ตามเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ก็ควรมีคำอธิบายต่อพี่น้องประชาชน ว่าได้พยายามในการปรับลดแล้วอย่างไรบ้าง ติดขัดที่ตรงไหน และมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร รวมถึงสรุปให้เห็นชัดเจนว่าสามารถลดวงเงินจากการกู้ 1.0 ล้านล้านบาท ได้มากที่สุดเท่าใด เพราะเหตุใด
สำหรับกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปแล้วนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เป็นกรอบงบประมาณที่จัดทำขึ้นในสถานการณ์ปกติก่อนเกิดวิกฤติ ดังนั้นควรต้องจัดทำกรอบงบประมาณดังกล่าวขึ้นใหม่ ให้ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตามที่แนะนำ จะสามารถจัดสรรงบประมาณฯ ประจำปี พ.ศ.2564 ให้ทุกกระทรวงได้ถูกต้องตามความเป็นจริง และจะทำให้วงเงินที่จะต้องกู้ในครั้งนี้ลดลงได้อีกพอสมควร คงเหลือแต่เพียงที่จำเป็นเท่านั้น
พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ หากมีความประสงค์จะใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรปรับปรุงงบประมาณแผ่นดินด้วยการตรา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือการโอนงบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อประเทศกลับเข้าสู่สภาวะ ปกติเมื่อใด หากงบประมาณที่ถูกตัดไปในครั้งนี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้ พรรคเพื่อไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนเช่นเดียวกัน
1.2 เงินในส่วนมาตรการการเงิน 9 แสนล้านบาท ถึงแม้จะเป็นนโยบายทางการเงิน แต่หากมีการกำกับดูแลหละหลวม จนเกิดความเสียหายเกินความสามารถของธนาคารแห่งประเทศไทย ภาระในความรับผิดชอบดังกล่าว ก็จะตกกับประชาชนทั้งประเทศ ดังเช่นที่เคยเกิดกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาแล้ว รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ตลอดจนมีการกำกับดูแลการใช้เงินดังกล่าว ให้รัดกุม ทั่วถึง และเป็นธรรมต่อผู้ ประกอบการทั้งหมด
2. การใช้งบประมาณ
เพื่อให้การใช้เงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน เกิดประสิทธิผลสูงสุด ทั้งด้านการดูแลเยียวยาประชาชน การดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข การดูแลธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และการลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคต อยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส และตรวจสอบได้ พรรคเพื่อไทยมีความเห็นเกี่ยวกับการใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ดังนี้
2.1 รัฐบาลควรดูแลพี่น้องประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยา รายละ 5,000 บาท อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งต้องรวมถึงพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งจากโรคระบาด และภัยแล้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐบาลต้องตระหนักว่า ประชาชนทุกคน ทั้งที่เสียภาษีให้รัฐ และที่ฐานรายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ต่างก็มีสิทธิโดยชอบที่จะได้รับการดูแลจากรัฐ เมื่อได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากโรคภัย และเมื่อรัฐบาลมีมาตรการตลอดจนคำสั่งที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ
2.2 รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอย่างเพียงพอและทั่วถึง เพื่อจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อหยุดการแพร่ระบาด การรักษาผู้เจ็บป่วย และการป้องกันทั้ง ประชาชนและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจากเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยไม่ปล่อยให้ขาดแคลนอุปกรณ์ หรือมีการกักตุน โก่งราคาสินค้า ดังเช่นที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
2.3 รัฐบาลต้องใช้งบประมาณแผ่นดินและเงินที่จะกู้เพื่อแปลงวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยสนับสนุนสินเชื่อหรือยกเว้นภาษีเกี่ยวกับการ นำเข้าเพื่อลงทุนเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ที่ปลอดภัยจากไวรัส เช่น เครื่องปรับอากาศ ฆ่าเชื้อ เป็นต้น รวมทั้งการจัดอบรมบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการ (Service Industry) ให้มี มาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่มีทั้งสถานที่และการบริการ ที่ปลอดภัยจากไวรัส ทำให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศในอนาคต มีความเชื่อมั่นมากขึ้น
2.4 การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รัฐบาลน่าจะมีข้อมูลชัดเจนอยู่แล้วว่า SMEs ของไทยมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ดังนั้นส่วนใหญ่จึงไม่อยู่ในระบบการกู้ยืมเงินผ่านธนาคารต่างๆ ตามปกติ เช่นเดียวกับจีนที่ผู้ประกอบการอยู่นอกระบบถึง 40 ล้านรายจาก 46 ล้านราย รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ และแนวทางการฟื้นฟูที่แตกต่างจากกรณีปกติธรรมดา โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.4.1 ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้มากกว่า 25,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป ควรเน้นไปที่มาตรการด้านภาษี ความสะดวกหรือสิทธิพิเศษในการส่งออกหรือนำเข้า และการตลาด
2.4.2 ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ระหว่าง 10,000,000 – 25,000,000 บาทต่อปี ควรเน้นเรื่องสิทธิพิเศษ มาตรการทางภาษี แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการตลาด
2.4.3 ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ระหว่าง 100,000 – 10,000,000 บาทต่อปี ควรเน้นที่แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เข้าถึงง่าย และการตลาดเป็นสำคัญ
2.4.4 การเยียวยาและฟื้นฟู SMEs ที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น รัฐบาลควรมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ ด้วยการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด จัดระเบียบ ลำดับความสำคัญ และพิจารณาลักษณะของธุรกิจว่าเป็นเช่นใด อนาคตจะสอดคล้องกับการประกอบการในยุคโควิด-19 เพียงใด ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นธรรม และนำไปสู่มิติใหม่ของวิสาหกิจดังกล่าว โดยสามารถใช้งบประมาณของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาทไปพลางก่อนได้ทันที
2.4.5 รัฐบาลต้องชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของประเทศว่า วิสาหกิจที่จะ พลิกฟื้นและเปลี่ยนวิกฤติโควิด-19 ให้เป็นโอกาสอย่างรวดเร็วได้นั้น จะต้องเน้นที่พื้นฐานอันจำเป็นของชีวิตเป็นเบื้องต้น เช่น อาหาร สุขภาพ ยารักษาโรค ทั้งแบบสมัยใหม่และแบบสมุนไพร วัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการสาธารณสุข สภาพแวดล้อมที่ดี สถานประกอบการ และวิธีการผลิตที่ถูกหลักการ สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ฯลฯ กิจการที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่
2.5 ในส่วนพระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยจัดตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่องตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund : BSF) เพื่อซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพที่ดีครบกำหนดชำระในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 นั้น
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารของธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ควรเป็นผู้ให้กู้โดยตรงกับภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อรักษาหลักการของการเป็นธนาคารกลางของประเทศที่มีความ น่าเชื่อถือไว้ จึงควรให้รัฐบาล บริษัท และธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันศึกษาปัญหาตราสารหนี้ ทั้งระบบให้ได้ราคาตราสารหนี้ที่ถูกต้องเป็นจริง ให้ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ แล้วจึงนำมาเป็นหลักประกันเพื่อกู้เงินจำนวนนี้ ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ให้กู้รายสุดท้าย (Lender of last resort) หากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปดำเนินการเสียเองตั้งแต่ต้น ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย หรือเลือกปฏิบัติได้ อันจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ และต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
3. การกำกับดูแลให้เกิดความถูกต้องโปร่งใสในการใช้เงิน
รัฐบาลต้องเร่งประกาศยุทธศาสตร์ เร่งทำแผนโครงการการใช้เงินให้มีความรอบคอบ และรัดกุมเพื่อให้การใช้งบประมาณฯ เป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยจะต้องเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ดูแลธุรกิจซึ่งรวมถึงภาคการเกษตรที่มีอนาคตและเกี่ยวข้องกับการจ้างงานเพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง การพักชำระหนี้ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกภายหลังวิกฤติโควิด-19
รัฐบาลต้องมีแนวทางและมาตรการการใช้เงินกู้อย่างโปร่งใส มีประสิทธิผลและตรวจสอบได้ โดยตั้งคณะกรรมการที่ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อตรวจสอบแนวทางการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จากนั้นต้องรายงานการใช้เงินให้สภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อการตรวจสอบ ทุก 3 เดือน รวมถึงการกำหนดแนวทางหรือมาตรการ และระยะเวลาที่จะชำระคืนเงินกู้จนครบถ้วน
4. การผ่อนคลายมาตรการ และการดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ ในทันทีที่พื้นฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขเอื้ออำนวย
รัฐบาลควรผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้ประชาชนได้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันตามปกติโดยเร็วที่สุด อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอีกครั้ง บน พื้นฐานของความปลอดภัยของทุกฝ่ายด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการจัดลำดับความสำคัญให้ผู้ประกอบการ และลูกจ้างที่ประสงค์จะดำเนินกิจการได้รับการตรวจเพื่อให้เป็นผู้ปลอดเชื้อ รวมทั้งมีอุปกรณ์และมาตรการป้องกันผู้มาใช้บริการ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ในระยะแรกของการผ่อนปรน รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า หากเกิดการเจ็บป่วยด้วยไวรัสดังกล่าว รัฐบาลจะสามารถดูแลรักษาได้ทั่วถึง โดยได้จัดสรรงบประมาณ ที่จำเป็น ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอย่างเพียงพอ
อนึ่ง เนื่องจากการกู้เงินและใช้จ่ายเงินกู้จำนวน 1.0 ล้านล้านบาทนั้น ถือเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินซึ่งจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 140 พรรคเพื่อไทยจึงขอให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทย
14 เมษายน 2563