กรมอนามัย หารือ 20 องค์กรเครือข่ายแรงงาน ร่วมสกัดจุดเสี่ยงโควิด-19

กรมอนามัย หารือ 20 องค์กรเครือข่ายแรงงาน ร่วมสกัดจุดเสี่ยงโควิด-19

กรมอนามัย หารือ 20 องค์กรเครือข่ายแรงงาน ร่วมสกัดจุดเสี่ยงโควิด-19

วันนี้ (30 เมษายน 2563) แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการประชุมปรึกษาหารือแนวทางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-191) ร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ณ ห้องประชุมกำธร  สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า ประเทศไทยมีกลุ่มแรงงานที่ทำงานในสถานที่ก่อสร้างและสถานประกอบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยพบว่ากลุ่มแรงงานกลุ่มนี้จะมีการอาศัยอยู่ร่วมกันทำให้เป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายและรวดเร็ว กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ดูแลแรงงานเหล่านี้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ CIVID-19 อย่างเคร่งครัด โดยมีการทำความสะอาดห้องพักและบริเวณพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันในที่พักคนงานก่อสร้าง และให้มีการเปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศเป็นประจำทุกวัน  ดูแลให้มีการทำความสะอาด ห้องน้ำ ห้องส้วม และอาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในจุดที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวจับ และสวิตซ์ไฟอย่างสม่ำเสมอ  รวมทั้งดูแลไม่ให้มีน้ำเสียหรือน้ำที่ใช้แล้วเฉอะแฉะพื้นที่โดยรอบที่พัก
         
“สำหรับในกรณีที่มีการปรุงประกอบอาหารในที่พัก ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนหยิบหรือจับอาหารปกปิดอาหารให้สะอาดเสมอใช้ถุงมือและปากคีบหยิบจับอาหารและใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว ทำความสะอาดบริเวณจุดเสี่ยงบ่อย ๆ เช่น ห้องครัว โต๊ะอาหาร รวมถึงล้างภาชนะ อุปกรณ์หรือสิ่งของเครื่องใช้ให้สะอาดเป็นประจำ และให้รวบรวมขยะทั่วไปใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้แน่น และนำไปทิ้งในจุดรวบรวมขยะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้ให้ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
         

ด้าน นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการทำงาน การเข้าถึงการช่วยเหลือตามกฎหมายและตามนโยบายของภาครัฐ เพราะการขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางสุขภาพตามมา ซึ่งปัจจุบันกลุ่มแรงงานข้ามชาติ  จะมีกลไกการทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขภาคประชาสังคม และตัวแรงงานข้ามชาติในการสร้างระบบอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่เรียกว่า อสต. อยู่แล้ว มีล่ามหรือพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวในหลายๆ สถานพยาบาล ในการเป็นกลไกสำคัญในการเข้าระวังและส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพในภาษาของแรงงานโดยตรง เช่น มีการจัดระเบียบหอพักใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ เป็นต้น
       
“ตอนนี้ปัญหาที่สำคัญของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คือ ในกลุ่มที่ถูกกักในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดังที่พบกรณีการติดเชื้อที่สะเดา จังหวัดสงขลา 42 คน ซึ่งเป็นการพบในพื้นที่ห้องกักเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ปัญหาสำคัญในส่วนนี้คือ ห้องกักไม่ได้มีพื้นที่ที่กว้างขวางมากพอสำหรับคนจำนวนมากในการเว้นระยะห่างทางกายภาพ รวมทั้งมาตรการทางด้านสุขภาพในห้องกักอาจจะมีความแตกต่างและขาดมาตรการในการดูแลและป้องกันโรคเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ จะมีแนวทางการป้องกันได้อย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่” นายอดิศร กล่าว
       

ด้าน นางสุจิน  รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในกลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ตอนนี้จะเน้นไปที่เรื่องการลงพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพมหานครเป็นหลักนำข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารแห้ง และอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีผู้บริจาคมา กระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ  ระหว่างที่เข้าไปในชุมชนก็จะมีการให้ความรู้เรื่องโรคโควิด-19 ที่แรงงานนอกระบบแต่ละคนสามารถป้องกันดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน การจัดบ้านเรือนใหม่ให้แออัดน้อยลง มีทางศูนย์สาธารณสุขจากเขตต่าง ๆมาลงพื้นที่ชุมชนเพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงร่วมด้วย ตามที่ทางเครือข่ายประสานงานไป
         
“สำหรับในส่วนของศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานครเอง แม้จะขาดรายได้จากการ   ที่ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ แต่ก็มีคนมาจ้างทำผ้าปิดจมูก ซึ่งทางศูนย์จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายพบใครมีไข้สูงเกิน 37.5 ขึ้นไป จะสอบถามอาการเพิ่มเติม เช่น มีไข้มากี่วัน มีอาการปวดเมื่อยและเจ็บคอไหม  ถ้ามีอาการแบบนี้ก็ประสานทางกรมควบคุมโรค เพื่อเข้ามาสอบถามข้อมูลต่อและประเมินอาการ ถ้าเข้าข่าย     จะให้ไปตรวจหรือจัดรถมารับไปรักษาตามขั้นตอนต่อไป เห็นว่าต่อจากนี้ไปกรมอนามัยจะต้องเข้ามาช่วยจัดระบบการป้องกันโรค เช่น จัดพื้นที่ค้าขายให้แก่หาบเร่แผงลอยโดยมีระยะห่างทางสังคม” นางสุจิน กล่าว
           
ทางด้าน นางศิริพรวดี กอผจญทรัพย์ ผู้จัดการบริษัท ไอซิน ทาคาโอก้า ฟาวน์ดริ บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้มีการวางมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อโดยเน้นไปที่การจัดสภาพแวดล้อมในโรงงานใหม่ทั้งหมด ทั้งการตรวจวัดไข้พนักงานและผู้รับเหมาทุกคนก่อนเข้าโรงงาน มีการจัดเจลแอลกอฮอล์ไว้ตามจุดต่าง ๆ เช่น ประตูเข้าโรงงาน safety gate หน้าห้องออฟฟิศ และห้องประชุมมีการทำที่เปิดประตูโดยเท้าเพื่อลดใช้มือที่จุดสัมผัสร่วม รณรงค์ให้สวมหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในโรงงาน มีการจัด Social Distancing ระยะห่าง ที่นั่งสลับ 1 เว้น 1 ที่ ตั้งแต่ในโรงอาหาร ห้องประชุม รถรับส่งพนักงาน และมีพยาบาลมาให้ความรู้พนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี