ฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อ...แก้ข่มขืน?

ฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อ...แก้ข่มขืน?

ช่วงนี้มีคดีข่มขืนปรากฏเป็นข่าวถี่ยิบ ที่น่าตกใจคือ “เหยื่อ” อายุน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ถูกข่มขืน มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป

  แม้มีการเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปีก่อนแล้วก็ตาม

คดีสะเทือนขวัญล่าสุดคือ เด็กน้อยวัยเพียง 3 ขวบ หายออกจากบ้านที่ จ.มุกดาหาร กระทั่งถูกพบเป็นศพไม่สวมเสื้อผ้า และมีร่องรอยถูกละเมิดทางเพศ

ด้วยความร้ายแรงของสถานการณ์ปัญหาข่มขืนในบ้านเรา ทำให้มีข้อเสนอของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนฯ ที่เสนอไปยังกระทรวงยุติธรรม ให้พิจารณาเพิ่มโทษฉีดอวัยวะเพศชายให้เสื่อมสภาพ หวังเป็น ไม้ตายสร้างความหวาดกลัวเพื่อยับยั้งการกระทำความผิด

คำถามคือ การแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้ใช้การลงโทษลักษณะนี้ ทำได้จริงหรือไม่ และหากทำได้จริง จะส่งผลเป็นการลดปริมาณคดีข่มขืนลงจริงหรือไม่

พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นส่วนตัวว่า การเลือกใช้วิธีการลงโทษรุนแรงลักษณะนี้ อาจต้องดูเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดซ้ำซาก ในฐานความผิดข่มขืนกระทำชำเรา อย่างเช่น กระทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 หรือ 3 โดยไม่มีสำนึกหรือความหลาบจำ หากเป็นแบบนั้นก็น่าจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้ได้ เพราะถือว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ส่วนการลงโทษในกรอบปกติ เช่น จำคุก ก็สามารถเพิ่มมาตรการให้เข้มขึ้นได้ เช่น ระยะเวลาการจองจำต้องยาวนานขึ้น ไม่ควรพิจารณาลดวันต้องโทษ เพราะถือว่าไม่หลาบจำสำหรับผู้ต้องหากลุ่มกระทำผิดซ้ำ และต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย เพราะอัตราโทษอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการหยุดยั้งอาชญากร

สิ่งที่น่าตกใจในมุมมองของ พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ก็คือ การเพิ่มโทษอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำร้ายเหยื่อจนตาย

“ในอีกมุม หากเพิ่มโทษให้แรงขึ้น อาจทำให้เหยื่อเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น เพราะผู้ก่อเหตุกลัวว่าเหยื่อจะดำเนินคดี และโดนโทษสูง จึงต้องฆ่าทิ้งเพื่อปิดปาก เพราะเชื่อว่าอาจจะทำให้การติดตามตัวมาลงโทษทำได้ยากขึ้น” นักอาชญาวิทยาชื่อดังตั้งข้อสังเกต และว่า หากนำโทษรูปแบบใหม่มาใช้จริงๆ ช่วงแรกอาจทำให้ผู้คิดกระทำผิดเกิดความเกรงกลัว แต่สถิติการกระทำความผิดในระยะยาวไม่น่าจะลดลง

“การลงโทษรูปแบบนี้ มีทั้งการฉีดยาทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฉีดยาเพื่อลดความต้องการทางเพศ แต่ก็ควรมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการติดตามตัวผู้ที่กระทำความผิดหลังพ้นโทษ อาจทำให้ผู้ที่กระทำความผิดเกรงกลัวว่าจะถูกจับกุม เพราะรัฐจับตาอยู่”

นักอาชญาวิทยาชื่อดัง เสนออีกว่า ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการในเชิงป้องกันหรือเฝ้าระวังควบคู่ไปด้วย โดยการป้องกันก็คือ ทำอย่างไรให้ตัวเองไม่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเกี่ยวกับเพศ ซึ่งตามสถิติ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ทุพพลภาพมักจะตกเป็นเหยื่อ

“จากการเก็บสถิติเหยื่อข่มขืน ผู้กระทำมักเป็นคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนสนิท ญาติ คนในครอบครัว พ่อเลี้ยงที่กระทำต่อบุตร ดังนั้นในเชิงป้องกัน จะต้องไม่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนใกล้ตัวมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อได้ โดยอาศัยโอกาสจากการอยู่ด้วยกัน และผู้ก่อเหตุอาจใช้สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดสติ รวมถึงอาจวางแผนลงมือก่อเหตุข่มขืน ซึ่งมูลเหตุจูงใจของแต่ละกรณีจะแตกต่างกัน แต่หากลดช่องโอกาสที่จะใช้ในการก่อเหตุได้ ก็จะทำให้การเกิดเหตุลดลง” พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

นักอาชญาวิทยา ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า การจะเพิ่มโทษในความผิดฐานใดๆ ต้องพิจารณาบริบทของสังคมและวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร และหากจะใช้โทษฉีดอวัยวะ ก็จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะไม่ใช่ฉีดเข็มเดียวแล้วจะลดฮอร์โมนทางเพศได้ตลอดชีวิต แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และประเมินทุกๆ 3-10ปี รวมถึงพิจารณาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“หากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้วใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพราะคนหนึ่งก็ต้องใช้เงินหลักแสน อาจจะต้องมีการตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา นอกเหนือจากการใช้งบประมาณของกระทรวงยุติธรรม ส่วนข้อเสนอให้ตัดอวัยวะเพศนั้น ต้องคิดเผื่อด้วยว่าหากบุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียงแพะ แต่ลงโทษตัดอวัยวะเพศไปแล้ว ใครจะรับผิดชอบชีวิตของผู้ถูกกระทำ” พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ตั้งคำถามทิ้งท้าย