คนร.ไฟเขียวแผนฟื้น ขสมก. คาดจะหยุดขาดทุนใน 7 ปี
คนร.เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. เตรียมประมูลเช่ารถอีวี 2,511 คัน หนุนแผนฟื้นฟู 7 ปี หยุดขาดทุน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พร้อมสั่งการให้เร่งปรับปรุงรายละเอียด และนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเบื้องต้นกระทรวงฯ ตั้งเป้านำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ภายในเดือน มิ.ย.นี้
หลังจากนั้น ขสมก.จะดำเนินการจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อจัดหารถโดยสารใหม่มาให้บริการประชาชน ในรูปแบบเช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง โดยจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเสนอราคาดำเนินการ หากเอกชนรายใดเสนอราคาดำเนินการต่ำสุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล และได้สิทธิสัมปทานเดินรถระยะเวลา 7 ปี ซึ่ง ขสมก.จะให้ผลตอบแทนจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรบริการ
“รถโดยสารจะใช้วิธีเช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง ให้เอกชนมาเสนอราคา ต่ำสุดจะได้รับสัญญาดำเนินการวิ่งรถ เมื่อครบกำหนด 7 ปี ขสมก.ก็จะเปิดประมูลใหม่ โดยเอกชนจะต้องให้บริการพร้อมทุกอย่าง ทั้งคนขับรถ และอุปกรณ์เก็บเงิน ตลอดจนเทคโนโลยีคำนวณการวิ่งให้บริการ เมื่อ ขสมก.ไม่มีภาระซ่อมบำรุงแล้ว ก็จะทำให้ EBITDA เป็นบวกภายใน 7 ปี คือไม่ขาดทุน”
โดยรูปแบบของการเช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง จะช่วยให้ ขสมก.ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อม ค่าเสื่อมสภาพของรถโดยสาร เมื่อเทียบกับแนวทางจัดซื้อรถโดยสารที่จะกลายเป็นทรัพย์สินของ ขสมก. แต่มีค่าซ่อม ค่าเสื่อม อย่างเช่นในปัจจุบันที่ ขสมก.มีรถโดยสารสภาพเก่า และกำลังจะไม่มีอะไหล่ในการซ่อมบำรุง
ทั้งนี้การปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก. จะมีการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ เช่ารถ EV 2,511 คัน โดยจ่ายต่าเช่าตามกิโลเมตรบริการ เมื่อบวกกับรถโดยสาร NGV ที่ ขสมก.ดำเนินการจัดซื้อมาก่อนหน้านั้ 489 คัน ก็จะรวมรถโดยสารให้บริการ 3 พันคัน โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน นอกจากนี้ ยังมีแผนจ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน โดยจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรบริการ ซึ่งจะจ่ายค่าเช่าจากรายได้ค่าโดยสาร ทรัพย์สินจะไม่ใช่ของ ขสมก. ทำให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการดูแลบำรุงรักษา
สำหรับการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก.ครั้งนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน เนื่องจากปรับปรุงจากแผนเดิมที่ยังคงจัดเก็บค่าโดยสารเป็นขั้นบันไดตามระยะทาง ปรับเป็น 1.จัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) รถใหม่ปัจจุบันจัดเก็บ 15-20-25 บาทต่อคนต่อเที่ยว
2.ออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น บัตรเติมเงินปกติ 30 บาทต่อคนต่อวัน บัตรผู้สูงอายุ 15 บาทต่อคนต่อวัน (ลด 50%) บัตรรายเที่ยว 15 บาทต่อเที่ยว และบัตรรายเดือน สำหรับนักเรียน และนักศึกษา ราคา 630 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 21 บาทต่อวัน และบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 720 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ย 24 บาทต่อวัน
“จากแผนฟื้นฟูฉบับเดิมที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ในปี 2562 จะเห็นได้ว่า ขสมก.จะหยุดขาดทุน คือ EBITDA เป็นบวกภายใน 5 ปี แต่แผนปรับปรุงใหม่นี้ จะใช้เวลา 7 ปี เนื่องจากรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารจะน้อยลง เพราะมีการปรับเป็นรูปแบบเหมาจ่าย เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นประโยชน์โดยรวม”
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า แผนฟื้นฟู ขสมก.นี้ รัฐบาลจะต้องรับภาระหนี้สินทั้งหมดของ ขสมก. เป็นไปตามแนวทางเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไว้เมื่อปี 2562 แต่มีการปรับวงเงิน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ขสมก.ขาดทุนสะสมทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 360 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้จาก 118,183.234 ล้านบาท เพิ่มเป็น 127,786.109 ล้านบาท
อีกทั้งรัฐจะสนับสนุนเงิน PSO เฉพาะรถโดยสารปรับอากาศ 7 ปี เป็นเงิน 9,674 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนผลประโยชน์พนักงาน 8,083.153 ล้านบาท ค่าเชื้อเพลิงและค่าซ่อมของรถ NGV 489 คัน จำนวน 1,279.842 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค 311.005 ล้านบาท นอกจากนี้ จะสนับสนุนเงินในโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จำนวน 5,301 คน วงเงิน 4,560 ล้านบาท
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า เบื้องต้น ขสมก.ได้ศึกษารูปแบบทีโออาร์ที่จะเปิดประมูลจัดหาเอกชนมารับจ้างเดินรถ โดยจะแบ่งออกเป็น 3-4 สัญญา ตามโครงสร้างของเส้นทางที่สอดคล้องกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนได้แข่งขันมากขึ้น ซึ่งเอกชนรายใดที่เสนอราคาค่าเช่าต่ำสุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล
โดยยกตัวอย่างเช่น ขสมก.มีการกำหนดราคากลางตามการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) เฉลี่ยระยะทางที่รถโดยสารแต่ละเส้นทางจะให้บริการอยู่ที่ 240 กิโลเมตร ต้นทุนเดิมของ ขสมก.วิ่งตามระยะทางมีต้นทุนอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลเมตร ดังนั้นเอกชนต้องเสนอราคาต่ำกว่า 50 บาท เช่น เอกชนเสนอต้นทุน 20 บาทต่อกิโลเมตร ขสมก.จะต้องใช้งบประมาณจ้างเอกชนราว 4 พันล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินการ ขสมก.คาดว่าจะสามารถเสนอแผนฟื้นฟูดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ภายในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนจัดทำทีโออาร์ มิ.ย. – ก.ย.2563 เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ่างช่วงกลางเดือน ก.ค. – ก.ย.2563 และได้ตัวผู้ชนะการประมูล พร้อมลงนามสัญญาในเดือน ก.ย. 2563 โดยกำหนดทยอยรับรถเช่าและเดินรถ เริ่มต้นในเดือน มี.ค.2564