กรมพัฒน์ฯ จ่อขีดชื่อบริษัทร้าง 12,629 ราย ป้องกันมิจจาชีพนำไปหาประโยชน์

กรมพัฒน์ฯ จ่อขีดชื่อบริษัทร้าง 12,629 ราย ป้องกันมิจจาชีพนำไปหาประโยชน์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกประกาศจะขีดชื่อนิติบุคคลออกจากทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 12,629 ราย เหตุไม่ส่งงบการเงินต่อเนื่องเกิน 3 ปี จ และธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกแล้วแต่ไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ 3 ปิดช่องทางผู้ไม่ประสงค์ดีนำข้อมูลเท็จไปหาประโยชน์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังอยู่ระหว่างการเผยแพร่ประกาศสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เรื่อง จะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทออกจากทะเบียนจำนวน 12,629 ราย ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีไม่ส่งงบการเงินติดต่อกัน 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2559-2561 ซึ่งเป็นเหตุให้เชื่อว่ามิได้ทำการค้าขายหรือดำเนินธุรกิจแล้ว พบว่ามีจำนวน 9,393 ราย

2.กรณีจดทะเบียนเลิกแล้วแต่ไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่หรือมิได้จัดทำรายงานการชำระบัญชี หรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่เลิกห้างหุ้นส่วนบริษัท พบว่ามีจำนวน 3,236 ราย สำหรับนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด กรมฯ ได้ประสานงานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้ตรวจสอบเพื่อจะได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

   159461686588        

“ขณะนี้กรมฯ ได้ประกาศรายชื่อนิติบุคคลผ่านทางเว็บไซต์ www.dbd.go.th หัวข้อ คู่มือทำธุรกิจ เลือกบริการข้อมูล เลือกจดทะเบียนธุรกิจ และเลือกประกาศถอนทะเบียนร้างและคืนสู่ทะเบียน ทั้งนี้ หากพ้นกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่ออกประกาศ นิติบุคคลดังกล่าวจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและ  สิ้นสภาพนิติบุคคล เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น”

            

นายวุฒิไกร  กล่าวว่า ขอฝากไปยังนิติบุคคลถึงการจัดทำงบการเงินประจำปีและยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อแสดงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินธุรกิจถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่สำคัญของห้างหุ้นส่วนและบริษัททุกรายที่จดทะเบียนจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากนิติบุคคลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวหรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบธุรกิจใดๆ รวมไปถึงการไม่ยื่นงบการเงิน ไม่มีสำนักงานใหญ่ตามที่จดทะเบียนไว้ จดทะเบียนเลิกแล้วไม่ยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือไม่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้น   

การกระทำต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลเสียต่อผู้ที่สืบค้นฐานข้อมูลนิติบุคคลของกรมฯ และเข้าใจผิดว่านิติบุคคลดังกล่าวยังมีสถานะคงอยู่ โดยทั้งนี้ กฎหมายจึงได้ให้อำนาจต่อนายทะเบียนในการถอนทะเบียนนิติบุคคลที่ทิ้งร้างหรือเลิกประกอบกิจการไปแล้ว เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน สร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจที่เข้ามาตรวจสอบข้อมูล และป้องกันความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ