เคลียร์ชัด! เคส VIP 'ทหารอียิปต์' ศบค.แจงทำไมไม่ตรวจ 'โควิด-19'
นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แจงเคส VIP ทำไมถึง "ไม่ตรวจหาเชื้อ" เมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เผย "ไร้เจ้าหน้าที่ควบคุม" มีเพียงให้ใช้ระบบติดตามตัวหรือแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามตัวเท่านั้น
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ได้ตอบประเด็นคำถามเรื่องรอยต่อเวลาที่บอกว่า สถานทูตประสานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ กต.ประสานผ่านกองทัพอากาศ ได้รับการอนุญาตหมดตามขั้นตอน อยากถามว่ารอยต่อที่เค้าลงจากเครื่องบินมาแล้ว และไปที่โรงแรม รวมถึงพักที่โรงแรมหลายวัน มีเจ้าหน้าที่ไทยไปกำกับดูแลไหม โดยเฉพาะจากกองทัพอากาศและ กต. ที่ต้องไปกำกับดูแลไม่ให้ออกนอกเส้นทาง จนมาเดินห้างได้ รวมทั้งเหตุการณ์นี้ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยระบุว่า
สำหรับในฐานะทาง ศบค.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบและพยายามทำให้ดีที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของการเข้ามาในลักษณะของผู้ควบคุมยานพาหนะ ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสาร 7/2563 ที่ว่านี้ ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีผู้ควบคุม ประเด็นคือ ให้เข้ามาโดยมีหนังสือแสดงตัว มีกรมธรรม์ ให้คัดกรองเรื่องของทางเดินหายใจเท่านั้น แม้กระทั่งมี Throat swab ก็ยังไม่ต้องเลย ซึ่งอันนี้ก็เป็นข้อที่เราต้องนำมาพิจารณา
ขณะเดียวกันสิ่งที่เค้ามาตรงนี้ มีเพียงให้ใช้ระบบติดตามตัว หรือแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามตัวเท่านั้น ซึ่งจากรายงานพบว่ามีการลงแอพพลิเคชั่น แต่อย่างที่ว่าเค้าได้ใช้หรืออะไร อย่างไร ก็ต้องมีประเด็นเข้าไปสอบสวนเพิ่มเติม ขณะเดียวกันการใช้พื้นที่กักกัน ให้เข้ารับการกักกันตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางพำนักอยู่ในราชอาณาจักร
ทั้งนี้สถานที่ผู้ซึ่งเดินทางต้องเข้ารับการกักกันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของราชการกำหนด เราพบว่ามีข้อที่หละหลวม คือ ทางด้านสถานทูตไปติดต่อโรงแรมโดยตรง แล้วนำไปสู่การเข้าพัก ทำให้ทีมที่เข้าไปดูแล้วมารับทราบทีหลัง แต่เมื่อมารับทราบทีหลัง แต่ทีมก็ไม่ได้ลดละ ขออนุญาตเข้าไปตรวจ ถึงได้มีกรณีของผลที่เป็นยืนยันออกมา
อนึ่งคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 7/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 6) นั้น
โดยผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ข้อ (5) ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจและมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน ซึ่งมีมาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้
1.ให้มีเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ได้แก่
- หนังสือแสดงการเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ พร้อมระบุเวลาที่จะเข้ามาและออกจากราชอาณาจักร และความจำเป็นที่ต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ
- กรรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 หรือหลักประกันอื่นใด ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางพำนักอยู่ในราชอาณาจักร ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
2.ให้ตัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ผู้เดินทาง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศขแงประเทศต้นทางก่อนออกเดินทาง (Exit screening)
ขณะที่มาตรการเมื่อเดินทางถึงและระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร ได้แก่
1.ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ผู้เดินทาง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
2.ให้ยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
3.ให้ใช้ระบบที่สามารถติดตามตัวหรือแอพพลิเคชั่น เพื่อเฝ้าระวังหรือติดตามอาการระหว่างที่เข้ารับการกักกัน
4.ให้เข้ารับการกักกัน ณ สถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางเข้าพำนักอยู่ในราชอาราจักร ทั้งนี้สถานที่ซึ่งผู้เดินทางต้องเข้ารับการกักกันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ทางราชการกำหนด