ระวัง... การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ K-Shaped
จากวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ฉุดเศรษฐกิจสู่ภาวะตกต่ำ สภาพัฒน์ประเมินจีดีพีไทย Q263 ลด 12.2% ซึ่งหลายคนมองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังเติบโตขึ้น แต่การฟื้นตัวจะเป็นในรูปแบบใด? L, U, V, W หรือ K-Shaped และจะส่งผลอย่างไรต่อไป?
เป็นที่ทราบกันดีว่าโควิด-19 นำไปสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้ออกมาแถลงข่าวว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของประเทศไทยในไตรมาส 2 ลดลง 12.2% ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่อยู่ในช่วงที่คาดการณ์ไว้ของบรรดาสำนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย
อย่างไรก็ดี หลายคนก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว (ถ้าไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดจนทำให้ต้องปิดบ้านเมืองอีกรอบ) และในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะดีกว่าของไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
ความน่าสนใจต่อไปคือเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะและรูปแบบใด? ซึ่งก็มีหลายแนวคิดหลายทฤษฎี ส่วนใหญ่ก็จะอ้างอิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตามสัญลักษณ์หรือตัวอักษรภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น ตัว L หรือ U หรือ V หรือ W หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์ Swoosh ของบริษัทไนกี้
ล่าสุดในสหรัฐเริ่มพูดถึงรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่งนั้นคือ K-Shaped หรือตัวอักษร K นั้นคือสำหรับบางกลุ่มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวกลับมาในสภาพเดิมอย่างเต็มที่ (หางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มนั้นก็ยังไม่ฟื้นตัวแถมยังตกต่ำลงต่อไป (หางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)
ในสหรัฐนั้น ที่เริ่มคุยกันเรื่องการฟื้นตัวแบบตัว K นั้นเนื่องจากตลาดหุ้นของสหรัฐ รวมทั้งตลาดที่อยู่อาศัยได้กลับมาฟื้นตัวกันอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่ตลาดหุ้นบางแห่งของสหรัฐกลับมาทำสถิติอีกครั้ง หรือหุ้นของบริษัทอย่าง Apple ก็ขึ้นสู่ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานของชาวอเมริกันและการปิดตัวเอง หรือล้มละลายของธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ยังคงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เริ่มเป็นที่กังวลกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวแบบตัว K
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ มีสายป่านทางการเงินที่ดีระดับหนึ่ง ย่อมจะก้าวผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ระบบการบริหารจัดการยังไม่มีความเป็นมืออาชีพและกระแสเงินสดยังไม่เยอะ แถมบริษัทขนาดใหญ่ย่อมมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตและก้าวออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้อย่างเข้มแข็งมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การฟื้นตัวแบบตัว K ในสหรัฐนั้น ก็เนื่องจากโควิดทำให้องค์กรต่างๆ นำเรื่องของดิจิทัลและออโตเมชั่นมาใช้มากขึ้น ทั้งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อ
อย่างไรก็ดี ผลที่ตามมาคือ เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่การลดจำนวนบุคลากรในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งทำให้ตำแหน่งบางตำแหน่งไม่มีความจำเป็นต้องมีอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรระดับใช้แรงงานที่ทำงาน Routine และสามารถที่จะทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักร ก็มักจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกปลดออกจากงาน ขณะที่กลุ่มบุคลากรที่เป็นกลุ่ม Professional worker จะสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าและไม่ประสบปัญหาเท่ากับบุคลากรอีกกลุ่ม
สำหรับสาเหตุที่ต้องกังวลนั้น ก็เนื่องจากถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบตัว K นั้นจะนำไปสู่ความแตกต่างและแบ่งแยกทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายแล้วความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดังกล่าวก็อาจจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและความวุ่นวายทางสังคมได้
หันกลับมาดูประเทศไทยบ้าง สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในรูปแบบตัว K ยังไม่ชัดเจนเท่ากับที่สหรัฐ (อาจจะเนื่องจากสหรัฐกำลังเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย) ตลาดหุ้นไทยก็ยังขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตามปกติ แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณบางประการที่เริ่มน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงานระดับปฏิบัติการตามโรงงานต่างๆ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ หรือการปิดตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหลายแห่ง รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันธุรกิจในบางภาคส่วนก็เติบโตไปด้วยดี อาทิ ในกลุ่มการส่งออกอาหารและผลไม้ไปต่างประเทศ หรือหลายๆ บริษัทใน ตลท. ที่ฝ่าฟันวิกฤติมาได้อย่างดีและประกาศจ่ายปันผลกลางปี
ถ้าไทยฟื้นตัวแบบตัว K จริง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะเพิ่มมากขึ้นต่อไป และสามารถที่จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ไม่คาดคิดได้