"สมชาย"หนุน "กมธ.รธน.ก่อนรับหลักการ" ยืดเวลาทำงาน

"สมชาย"หนุน "กมธ.รธน.ก่อนรับหลักการ" ยืดเวลาทำงาน

หลัง "กมธ.พิจารณาแก้รธน.ก่อนรับหลักการ" ขอขยายเวลาทำงาน มีเสียงหนุนจากส.ว. ด้วยเหตุผลคือมีกมธ.หลายคนยังไม่ใช้สิทธิแสดงความเห็น

         นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะที่ที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.)  พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวสนับสนุนต่อการขอขยายเวลาการประชุมกมธ.ตามที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานกมธ.ฯ เตรียมเสนอเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  เพราะมองว่าการงดประชุมกมธ. จำนวน  2 นัด เมื่อวันที่ 15 - 16 ตุลาคม  หลังจากที่มีความกังวลเรื่องการชุมนุมและการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ราชการสำคัญนั้นทำให้ช่วงเวลาพิจารณาหายไป แม้วันจันทร์ ที่ 19 ตุลาคม จะนัดประชุมเพิ่มเติมก็ตาม ทั้งนี้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องสำคัญ​ดังนั้นควรทำให้รอบคอบ และไม่ควรเร่งรัดจนเกินไป
         ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่งดประชุมเพราะมีคำสั่งจากฝ่ายความมั่นคงนั้น มีคนตั้งข้อสังเกตว่าคือการแทรกแซงงานนิติบัญญัติ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่มีการแทรกแซง แต่ต้องรับฟัง เพราะหากมีคนเตือนว่า รัฐสภามีบุคคลขู่วางระเบิดต้องรับฟัง ทั้งนี้การชุมนุวันที่ 14 ตุลาคมที่มวลชนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ อยู่ใกล้กับรัฐสภาด้วย กมธ. ต้องให้ความร่วมมือ และวันที่ 14 ตุลาคมนั้น กมธ. นัดประชุมและพิจารณาไปได้เพียง 1ชั่วโมง 30 นาทีก่อนเห็นพ้องร่วมกันว่าให้ยุติการประชุม
 
         เมื่อถามว่า หากประชุมที่รัฐสภา เกียกกายไม่ได้ สามารถย้ายไปที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารสุขประพฤติได้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ตนไม่ทราบ
160283331395
         เมื่อถามถึงความคืบหน้าการทำงานและวาระที่ต้องพิจารณา นายสมชาย กล่าวว่าขณะนี้การทำงานของกมธ.​ยังมีวาระพิจารณาที่สำคัญ​คือ การรับฟังความเห็นของกมธ.ฯ ต่อญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ทั้ง 4 ฉบับและการพิจารณาการจัดทำรายงานกมธ. รวมถึงรายงานของอนุกมธ.ฯ ด้านกฎหมาย ทั้งนี้กมธ. เห็นร่วมกันว่าจะไม่ลงมติเพื่อชี้ขาด ดังนั้นการทำงานคือการรับฟังความเห็นของกมธ.ฯ​ทุกคนและทำบันทึกความเห็นเสนอต่อรัฐสภา โดยส่วนตัวให้ความเห็นไปแล้ว ในหลายประเด็น อาทิ ญัตติเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และ มาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจส.ว.ที่ติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะการปฏิรูปประเทศและพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกาปฏิรูป ตนเห็นว่าสามารถแก้ไขได้โดยอำนาจของรัฐสภา และไม่ต้องนำไปทำประชามติ เพราะอยู่นอกเหนือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อีกทั้งหากแก้ไข ควรปรับเนื้อหา ซึ่งตนเสนอร่างแก้ไขแล้ว คือ อำนาจการติดตามการปฏิรูปให้เป็นอำนาจร่วมกันของส.ว. และ ส.ส. เพื่อให้รัฐมนตรีและข้าราชการให้ความสำคัญ
           นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 159 และมาตรา 272 ว่าด้วยกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือก ตนมองว่ามาตราที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ นั้นมาจากการเสนอคำถามพ่วงตอนทำประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ดังนั้นควรทำประชามติถามประชาชน แต่ยังมีประเด็นพิจารณาคือ จะทำประชามติก่อนแก้ไข หรือหลังแก้ไข อย่างไรก็ตามยังมีกมธ.หลายคนที่ยังไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องต่างๆ จึงต้องให้ความเป็นธรรมและสิทธิต่อการแสดงความเห็นด้วย ดังนั้นการขอขยายเวลาทำงาน คงไม่ใช่การยื้อ หรือ ยืดเวลาตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตแน่นอน.