ทรัพย์สินเสี่ยง 'น้ำท่วม' เลือก 'ประกันภัย' แบบไหนดี

ทรัพย์สินเสี่ยง 'น้ำท่วม' เลือก 'ประกันภัย' แบบไหนดี

ทำความรู้จักกับประเภทของ "ประกันภัย" ที่ครอบคลุมในกรณีที่บ้าน รถยนต์ นาข้าว ถูก "น้ำท่วม" เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงปริมาณน้ำหลาก

"น้ำท่วม" หรือ "อุทกภัย" ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่ (ปภ.) ออกประกาศเตือนหลายจังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมเนื่องจากมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น

สิ่งที่มักจะตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้เมื่อน้ำในหลายพื้นที่มีปริมาณมากคือ "ความเสียหาย" จากน้ำที่ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งทรัพย์สิน และชีวิต หนึ่งในตัวช่วยรับแรงกระแทกจากความเสี่ยงที่จะเกิด "น้ำท่วม" ได้ ก่อนจะได้รับผลกระทบคือ "ประกันภัย" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  ปภ. เตือน 13 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วม

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงจะพาไปทำความรู้จักกับประกันภัย สำหรับสินทรัพย์ต่างๆ ที่จะทำหน้าเป็นตัวช่วยรับมือเมื่อเกิดน้ำท่วมให้เจ้าของได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มทรัพย์สินหลักที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม ดังนี้

1. บ้าน ที่อยู่อาศัย 

  • "ประกันอัคคีภัย" ที่เพิ่มการคุ้มครอง "อุทกภัย"

การทำประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยเป็นประกันที่กฎหมายบังคับเพื่อป้องกันภัยจากไฟเป็นหลัก โดยประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองภัย 6 อย่าง ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน และภัยเนื่องจากน้ำ

แต่เงื่อนไขของ "ภัยเนื่องจากน้ำ" ณ ที่น้ี ครอบคลุมอุบัติเหตุที่เกิดจากน้ำเท่านั้น เช่น น้ำรั่ว น้ำไหลล้นจากท่อน้ำ ถังน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ผ่านเข้าทางท่ออากาศที่ชำรุด แต่ไม่คุ้มครองกรณีเกิด "ภัยน้ำท่วม" ที่เป็นภัยธรรมชาติ และท่อประปาที่แตกจากนอกอาคาร ดังนั้น ผู้ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงของบ้านหรือที่อยู่อาศัยจากเหตุน้ำท่วมจึงต้องขอเพิ่มความคุ้มครองเพิ่มเติม โดยเบี้ยประกันจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะอาคาร ความคุ้มครองที่มากขึ้น และเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันภัย

  • "ประกันภัยพิบัติ" 

คือประกันที่คุ้มครองความเสียหายหรือสูญเสียของตัวบ้านหรือทรัพย์สินที่เกิดจากเหตุธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ที่คณะรัฐมนตรีประกาศว่าเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง

ความคุ้มครองของประกันภัยบ้านประเภทนี้ จะเป็นแบบจำกัดความรับผิด (Sub limit) หมายความว่า ไม่สามารถซื้อความคุ้มครองได้เต็มมูลค่าของบ้าน โดยอัตราเบี้ยประกันภัยไม่เกิน 0.5% ของความคุ้มครองต่อปี ทั้งนี้ หากต้องการความคุ้มครองมากกว่า 100,000 บาท ค่าเบี้ยประกันอาจสูงกว่า 0.5% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท  ซึ่งประกันภัยพิบัติ จะเป็นประกันที่ตรงจุดสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองจาก "ภัยน้ำท่วม" โดยเฉพาะ

 2. รถยนต์ 

ประกันรถยนต์ที่จะดูแลรถยนต์จากเหตุ "น้ำท่วมรถ" คือ ประกันชั้น 1 ซึ่งเป็นประกันภัยชั้นที่มีความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากที่สุด มีเบี้ยประกันสูงที่สุด หรือบางบริษัทประกันชั้น 2+ ซึ่งมีเงื่อนไขที่ระบุถึงเหตุน้ำท่วมก็ช่วยชดใช้ค่าเสียหายได้

ทั้งนี้ การคุ้มครองกรณีรถเสียหายจากการเกิดน้ำท่วม ไม่ได้ครอบคลุมทุกกรณี เงื่อนไขการประกันภัยมักระบุว่า ต้องเป็นเหตุ "น้ำท่วมรถ" ที่ไม่ใช่เกิดจากความประมาทของเราเอง ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ขับขี่ต้องไม่ตั้งใจที่จะนำรถไปในที่ที่เสี่ยงภัย เช่น การเกิดน้ำท่วมรถที่มาจากความประมาทของเจ้าของรถยนต์เอง หรือมองเห็นอยู่แล้วว่าถนนข้างหน้านั้นมีน้ำท่วมขังอย่างหนัก มีการติดป้ายแจ้งเตือน แต่ยังเลือกที่จะขับรถฝ่าเข้าไป

ในกรณีเหล่านี้จะหมายความว่าน้ำได้ท่วมรถที่เกิดจากความประมาทของผู้ใช้รถเองจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

ตัวอย่างกรณีที่ให้ความคุ้มครอง ข่ายของการเคลมประกัน ที่บริษัทก็จะชดเชยค่าซ่อมแซมจากน้ำท่วมรถให้ เช่น การขับรถท่ามกลางฝนตกหนัก แล้วน้ำก็ค่อยๆ เอ่อท่วมถนน และทำให้ “น้ำท่วมรถ” จนได้รับความเสียหาย หรือรถจอดอยู่เฉยๆ แล้วน้ำไหลมาท่วมจนได้รับความเสียหาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะทำประกันประเภทใด ผู้เอาประกันจะต้องอ่าน "รายละเอียด" และ "เงื่อนไข" อย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเมื่อภัยมาถึง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:  ฝนตกหนัก ‘น้ำท่วมรถ’ ‘ประกันรถยนต์’ คุ้มครองไหม

 3. พืชผลทางการเกษตร 

เมื่อ "น้ำท่วม" หรือ "อุทกภัย" เกิดขึ้นนาข้าวมักจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงตามมาเสมอ โดยปกติแล้วความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผลิตผลทางการเกษตรจากอุทกภัย มักจะได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยที่เรียกว่า "ประกันภัยนาข้าว" ซึ่งประกันประเภทนี้จัดทำโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยชาวนารับความเสี่ยงจากการสูญเสียผลผลิตที่จะเป็นรายได้ในอนาคต

ในแต่ละปี ธ.ก.ส. เปิดให้ชาวนาสมัครขอ "กรมธรรม์ประกันภัยข้าว" ซึ่งอาจจะมีเงื่อนไข แตกต่างกันออกไปในแต่ละปี เช่น ในปี 2563 ได้มีการปรับปรุงกรมธรรม์ข้าวนาปีให้มีความพิเศษ และเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 4 แบบกรมธรรม์ ได้แก่

1. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  (รายละเอียด)
2. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เพื่อกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ
3. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และ
4. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าร่วมกรมธรรม์เหล่านี้ได้จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่โครงการประกันภัยข้าวนาปีกำหนดด้วย

160346501039

ที่มา:  ธ.ก.ส.