'แอร์เอเชีย' เปิดรายได้ Q3 เพิ่ม 8% แต่ยังขาดทุน 1,836.8 ล้านบาท
บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) หรือ "ไทยแอร์เอเชีย" ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 มีรายได้รวม 2,403.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาส 2 เหตุเที่ยวบินภายในประเทศ กลับมาให้บริการเกือบหมด
วันนี้ (11 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 มีรายได้รวม 2,403.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสที่ 2 แต่ยังลดลงร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับปริมาณที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทาง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงกว่าร้อยละ 50 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการควบคุมค่าใช้จ่ายเข้มงวด
อย่างไรก็ตามมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของหนี้สินที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้ในไตรมาส 3 ปี 2563 มีการขาดทุนอยู่ที่ 1,836.8 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนขั้นต้นของไตรมาสนี้ฟื้นตัวจากไตรมาสที่แล้ว หนุนจากปริมาณที่นั่งภายในประเทศที่กลับมาให้บริการเกือบจะเท่าก่อนการเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลให้สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 1.86 ล้านคน โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 65 พร้อมทั้งเปิดฐานปฏิบัติการบินใหม่ที่ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ในเดือนกันยายน สร้างโอกาสขยายฐานลูกค้ารวมถึงการให้บริการขนส่งสินค้า รักษาความเป็นผู้นำตลาดในประเทศที่เเข็งเเกร่งขึ้น
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 บริษัทฯ เริ่มได้รับสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ที่ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ กำหนดนโยบายและอัดแคมเปญกระตุ้นการเดินทาง ทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชียเริ่มเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ๆ ในเดือนกันยายน 2563 โดยสายการบินไทยแอร์เอเชียได้กลับมาให้บริการเส้นทางในประเทศคิดเป็นร้อยละ 96 ของปริมาณที่นั่งก่อนการแพร่ระบาด Covid-19
“ในไตรมาสที่ 3 เรารุกเดินหน้าในการเปิดฐานปฏิบัติการบินใหม่ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้ไทยแอร์เอเชีย เป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการบินสะดวกเลือกได้ที่กรุงเทพฯ ใน 2 ท่าอากาศยาน เสริมทัพจากท่าอากาศยานดอนเมือง เเละถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ รวมทั้งเตรียมความพร้อม เมื่อมีนโยบายเปิดประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ สามารถกลับมาให้บริการได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งกับผู้โดยสารเเละด้านการขนส่งสินค้า ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป” นายสันติสุขกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสันติสุขมองว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปริมาณที่นั่งเส้นทางบินภายในประเทศจะเติบโตมากกว่าก่อนการแพร่ระบาด Covid-19 เป็นผลจากการเปิดฐานปฏิบัติการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเพิ่มเส้นทางการบินในประเทศและความถี่ให้มีมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับปริมาณความต้องการของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นนั้น อีกทั้งไตรมาสที่ 4 นั้น เข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว การเดินทางมีเเนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการที่รัฐบาลขยายเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม ปี 2564 รวมทั้งการเริ่มมีนโยบายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในโครงการ Special Tourist Visa (STV) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพำนักและท่องเที่ยวในประเทศไทยระยะยาว
โดยมองว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและพร้อมตอบรับกับมาตรการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ รัฐบาลประกาศลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร จนถึง 30 เมษายน ปี 2564 เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน