เน้นย้ำ 14 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วม-คลื่นลมแรง
กอปภ.ก. เน้นย้ำ 14 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 30 พ.ย.-3 ธ.ค.63
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูลเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2563 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศ ปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 4 (297/2563) ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำใฟ้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ปริมาณฝนสะสมอาจทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2563 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง 14 จังหวัด ได้แก่
1. ชุมพร (อำเภอหลังสวน อำเภอละแม อำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี และอำเภอทุ่งตะโก)
2. สุราษฎร์ธานี (อำเภอวิภาวดี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอดอนสัก อำเภอเกาะสมุย อำเภอ บ้านนาสาร อำเภอพุนพิน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอชัยบุรี อำเภอเวียงสระ อำเภอเกาะพะงัน และอำเภอบ้านตาขุน)
3. นครศรีธรรมราช (อำเภอลานสกา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพรหมคีรี อำเภอชะอวด อำเภอพระพรหม อำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอสิชล อำเภอทุ่งสง อำเภอพิปูน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอปากพนัง อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอช้างกลาง อำเภอฉวาง อำเภอนาบอน อำเภอขนอม อำเภอบางขัน และอำเภอทุ่งใหญ่)
4. พัทลุง (อำเภอเขาชัยสน อำเภอตะโหมด อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอป่าบอน อำเภอป่าพะยอม อำเภอศรีบรรพต อำเภอบางแก้ว อำเภอปากพะยูน อำเภอควนขนุน และอำเภอกงหรา)
5. สงขลา (อำเภอนาหม่อม อำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอบางกล่ำ อำเภอควนเนียง อำเภอเมืองสงขลา อำเภอจะนะ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอเทพา อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และอำเภอสะเดา)
6. ปัตตานี (อำเภอกะพ้อ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น อำเภอมายอ อำเภอหนองจิก อำเภอยะรัง อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอยะหริ่ง อำเภอแม่ลาน และอำเภอปะนาเระ)
7. ยะลา (อำเภอรามัน อำเภอเมืองยะลา อำเภอกรงปีนัง อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอธารโต อำเภอเบตง และอำเภอกาบัง)
8. นราธิวาส (อำเภอยี่งอ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอบาเจาะ อำเภอตากใบ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอสะไหงปาดี อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน และอำเภอศรีสาคร)
9. ระนอง (อำเภอกระบุรี)
10. พังงา (อำเภอเกาะยาว)
11. ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต)
12. กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภอเกาะลันตา อำเภอคลองท่อม อำเภออ่าวลึก อำเภอปลายพระยา อำเภอลำทับ และอำเภอเหนือคลอง)
13. ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอนาโยง อำเภอห้วยยอด อำเภอรัษฎา อำเภอกันตัง อำเภอหาดสำราญ อำเภอสิเกา และอำภอวังวิเศษ)
14. สตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอควนโดน อำเภอมะนัง และอำเภอละงู)
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ริมแม่น้ำลำคลอง ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที ตลอดจนประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ภัย แนวทางการปฏิบัติตน และการอพยพไปยังจุดปลอดภัยผ่านทุกช่องทาง รวมถึงเน้นย้ำให้ดูและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง