เคาะประตูการค้า ‘เชียงใหม่’ ส่งออกไกล 'ตลาดยุโรป'
การรักษาตลาดในต่างประเทศ ช่วงระบาดโควิด-19 เป็นความท้าทายอยู่ก่อนแล้ว แต่การขยายตลาดใหม่ อาจเป็นสิ่งท้าทายยิ่งกว่า สิ่งสำคัญคือสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้พบปะผู้ชี้ช่องทางนำไปสู่จับคู่ธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ สินค้าไทย
กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตและอุปทูตจาก 16 ประเทศในภูมิภาคยุโรป และเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป รวม 21 คน เดินทางลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากภูมิภาคยุโรปเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทย” เพื่อเป็นเวทีการพบปะกับผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษาของ จ.เชียงใหม่
ในการนำองค์ความรู้ และร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมของยุโรปไปพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ต้องการดีไซน์สินค้าผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศ การพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี สู่การยกระดับการค้าไปสู่อีคอมเมิร์ซ รวมไปถึงปรับโฉมให้เชียงใหม่เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
“ศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์” อธิบดีกรมยุโรป กล่าวว่า พลังขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะช่วยผลักดันให้เกิดเครือข่ายภาคธุรกิจในพื้นที่ ในการพัฒนาธุรกิจและสินค้าให้ตรงกับความต้องการในตลาดต่างประเทศ
โครงการนี้ เกิดจากแนวคิดของศศิวัฒน์ที่ต้องการเสริมสร้างความร่วมมือสามประสาน (Triple Helix Model of Innovation) โดยนำเอาภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาร่วมมือกัน ทำให้เกิดการพัฒนาในระดับท้องถิ่น ขณะที่กรมยุโรปได้นำคณะทูตเดินทางมายัง จ.เชียงใหม่เป็นพื้นที่แรก หวังเป็น เวทีจับคู่ภูมิพลังแห่งปัญญา (Best Practice) ระหว่างประเทศในยุโรปกับผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับจังหวัด โดยหลังจากนี้มีแผนจะทำโครงการลักษณะเดียวกันนี้ในภาคอีสานและภาคใต้ของไทยต่อไป
ด้าน "เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์" ผู้ว่าราชการจัหวัดเชียงใหม่ ชี้ว่า เชียงใหม่มีความได้เปรียบเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และมีต้นทุนความเป็นเมืองรองอันดับ 2 ของประเทศ ที่กำลังพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนา เชียงใหม่ 4.0 เมืองแห่งความมั่งคั่งด้วยนวัตกรรมและรังสรรค์คุณค่าทางอัตลักษณ์
นอกจากนี้ จ.เชียงใหม่ ยังเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือที่จะเชื่อมต่อกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และการท่องเที่ยวธุรกิจไมซ์ (MICE Business Travel) ประกอบด้วยการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจการจัดการประชุมขององค์กร (Meeting) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) การจัดการประชุมนานาชาติ (Conventions) และการจัดการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibitions)
“อนุชา มีเกียรติชัยกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ มองว่า จ.เชียงใหม่มีศักภาพทางธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งแต่สินค้าออแกนิค การเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หรืองานคราฟต์ รวมทั้งนวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อส่งออกหลายประเภท เช่น เป็นแหล่งผลิตฟันเทียมที่ใหญ่เป็นอันดับต้นของอาเซียนและส่งออกไปทั่วโลก
"การท่องเที่ยวเป็นต้นทุนที่ช่วยผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีของ จ.เชียงใหม่ ในการส่งออกไปยังตลาดในต่างประเทศ แม้ต้องเผชิญกับพิษโควิด-19 แต่ต่างชาติยังนิยมซื้อสินค้าไทย เพราะเกิดจากความประทับใจเมื่อเคยได้เยือน รวมถึงเชื่อมั่นศักยภาพในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาทำฟันและรักษาฟันจำนวนมาก" อนุชาเล่า
ขณะที่ "วโรดม ปิฏกานนท์" ประธานสภาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ในทุกๆปี จ.เชียงใหม่จัดงานลานนาเอ็กซ์โปซึ่งเห็นว่า หากประเทศในยุโรปเข้ามาร่วมกันจัดงานแสดงนิทรรศการสินค้าขนาดใหญ่ European Pavilion จะช่วยดึงดูดคนไทยมาเที่ยวงานมากขึ้น ขณะเดียวกันยุโรปเองก็จะได้ประโยชน์ในการนำสินค้าและบริการมาแสดงด้วย
ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเชียงใหม่ขึ้นกับ การท่องเที่ยวและบริการราว 65% ทุกเดือน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณเดือนละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ลดลงเหลือเพียง 50 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันเดือน พ.ย. 2563 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท โดยเกือบ 100% มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย
“อูลล์เพียจ์นา ลามา” อุปทูตรักษาราชการสถานทูตคอซอวอ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางมายัง จ.เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์เพิ่งเดินทางไป จ.ภูเก็ต เนื่องจากทั้ง 2 จังหวัดเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้มาเห็นเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชีวิตชีวาและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง
"ครั้งแรกที่ได้มา จ.เชียงใหม่ สิ่งที่เห็นได้ชัดเป็นทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม ผู้คนมีความเป็นมิตร เปี่ยมด้วยน้ำใจ ทำให้รู้สึกซาบซึ้งกับการต้อนรับที่อบอุ่น ซึ่งในบรรดาสถานที่ต่างๆที่เคยไปเยือนมาแล้วในประเทศไทย ส่วนตัวเห็นว่า จ.เชียงใหม่เป็นสถานที่ที่รู้สึกคุ้นเคยที่สุด เพราะมีภูเขาสูงมากมายคล้ายบ้านเกิดในคอซอวอ" ลามาเล่า
พร้อมย้ำถึงความประทับใจ หลังจากได้ไปพบปะกับนักออกแบบที่เปรมประชาคอลเลคชั่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเซรามิกชั้นนำของไทยไปยังตลาดในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้พบปะกลุ่มศิลปินงานคราฟต์ร่วมสมัยของชามเริญ สตูดิโอ ที่สร้างสรรค์เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องประดับทองเหลือง และการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ โดยลามาบอกว่า เห็นถึงความพยายามในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมา จึงอยากให้รักษามาตรฐานผลงานของพวกเขาต่อไป
นอกจากนี้ อุปทูตรักษาราชการสถานทูตคอซอวอ ยังแสดงความมั่นใจต่อการรับมือโควิด-19 ของประเทศไทย โดยมองว่า ตอนนี้คนทั้งโลกกำลังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยคือสวรรค์แห่งหนึ่ง เราไม่ควรทำลายสวรรค์แห่งนี้ ดังนั้นควรตระหนักว่าต้องไม่ให้เรื่องราวใดๆมาทำลายความมั่นคงและบรรยากาศของไทย โดยเฉพาะเห็นว่า จ.เชียงใหม่มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทำให้มั่นใจเมื่อมาเยือน