'เลือกตั้งอบจ.' ต้องรู้! กางโทษ 5 กระทง ความผิด 'บัตรเลือกตั้ง'
เปิดคู่มือ “เลือกตั้งอบจ.” ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นายก อบจ.-สมาชิกสภา อบจ.วันที่ 20 ธ.ค.นี้ ใช้ “บัตรเลือกตั้ง” อย่างไร ไม่ให้ผิดหลักปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้
วันที่ 20 ธ.ค.เป็นวันเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ เลือกตั้งอบจ. ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีตั้งแต่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 1/2557 ประกาศเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2557
การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้นอกเหนือจากกฎระเบียบที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศใช้ตาม "พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562" และ "ระเบียบ กตต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2563" เพื่อให้ผู้สมัครผู้สมัครนายก อบจ.76 จังหวัด 335 คน และผู้สมัครสมาชิก อบจ. 8,186 คนยึดแนวทางปฏิบัติตามเคร่งครัดแล้ว
แต่สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 76 จังหวัดในจำนวน 99,795 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ "กกต." ได้กำหนดวิธีปฏิบัติในวันใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะหลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง ดังนี้ บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นอกจากนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ กกต.จะอำนวยความสะดวกให้ "ผู้พิการ-ทุพพลภาพ-ผู้สูงอายุ" เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งอบจ. ภายใต้การกำกับดูแลของ "กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง" แต่ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ยกเว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ จะให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น
การเลือกตั้งวันที่ 20 ธ.ค. จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นสำหรับเลือก "นายก อบจ." จะเป็นบัตร "สีเขียว" และเลือก "สมาชิกสภาอบจ." จะเป็นบัตร "สีชมพู" ซึ่งข้อบังคับใน "พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562" ได้กำหนด "ข้อห้าม" กระทำความผิดต่อ "บัตรเลือกตั้งท้องถิ่น" ไว้ 5 ข้อสำคัญที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องพึงระวัง ประกอบด้วย
"มาตรา 85" ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้ง ที่ได้รับจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อการออกเสียงลงคะแนน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือท้ังจำท้ังปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
"มาตรา 86" ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลส่ังเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี
"มาตรา 87" ในระหว่างการออกเสียงลงคะแนน ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ถ่ายภาพบัตรเลือกต้ังเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกต้ัง หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือท้ังจำท้ังปรับ
"มาตรา 88" ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายช่ือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงว่า มีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนน โดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาทหรือท้ังจำท้ังปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
"มาตรา 89" ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกต้ังนำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือท้ังจำท้ังปรับ
ทั้งหมดเป็นคู่มือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นายก อบจ.และสมาชิกสภา อบจ. ในศึก "เลือกตั้งอบจ." วันที่ 20 ธ.ค.2563 ในแนวทางปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด.