'โควิด' ระบาดรอบใหม่ 'จัดการเงิน' ยังไงให้รอด?

'โควิด' ระบาดรอบใหม่ 'จัดการเงิน' ยังไงให้รอด?

เปิดเทคนิค "จัดการเงิน" ส่วนบุคคล เมื่อ "โควิด-19" เริ่มกลับมา "ระบาดรอบใหม่" ในประเทศไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพการเงินคุณซ้ำ จนอาจถึงขั้นโคม่าถ้าไม่รีบวางแผน แก้ไข และป้องกัน

เรื่องที่หลายคนกลัวเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ "โควิด-19" กลับมาระบาดใหม่อีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจว่าอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน และธุรกิจคล้ายกับครั้งที่ผ่านมา

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนพาไปเปิดกระเป๋าสตางค์ตัวเองดูอีกครั้ง เพื่อวางแผน "การเงินส่วนบุคคล" ให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเอาตัวรอดจากรายได้ที่ลดลง หรือวางแผนเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ 

เกราะป้องกันที่ดีที่สุดคือ "ความเข้าใจการเงินของตัวเอง" และ "วางแผนการส่วนบุคคล" อย่างรัดกุมและเหมาะสม เพื่อช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเจอวิกฤติภายนอกที่เข้ามากระทบการเงินของเราได้ โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว

 4 ขั้นตอน ดูแลสุขภาพการเงิน รับมือวิกฤติ 

ขั้นตอนที่ 1 : รู้จัก "ทรัพย์สิน" และ "หนี้สิน" ของตัวเอง 

จุดเริ่มต้นของการจัดการเงินพื้นฐานที่ทำให้วางแผนจัดการเงินส่วนบุคคลง่ายขึ้น คือ "ทรัพย์สิน" และ "หนี้สิน" ที่เรามีอยู่ จุดสำคัญคือเราต้องเข้าใจก่อนว่าทุกอย่างที่ครอบครองอยู่อาจไม่ใช่ "ทรัพย์สิน" ทั้งหมด เช่น รถยนต์ บ้านที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระ 

"ทรัพย์สิน" คือสิ่งต่างๆ ที่มีมูลค่า ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ สังเกตง่ายๆ คือ ทรัพย์สิน จะมีโอกาสนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้น หรือกองทุนรวม ฯลฯ ซึ่งเราต้องสำรวจว่า ณ เวลานี้เรามีทรัพย์สินอยู่เท่าไร และสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดในเวลาจำเป็นได้มากน้อยแค่ไหน

"หนี้สิน" สำหรับคนที่มีหนี้อยู่ในเวลานี้ ต้องสำรวจว่า ตอนนี้เรายังมีภาระหนี้อยู่เท่าไร โดยหนี้ที่จะต้องจ่ายต่อเนื่องในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิต ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างที่จำเป็นต้องชำระอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยเราต้องพิจารณาว่าในแต่ละเดือนจะต้องเตรียมเงินเท่าไรสำหรับจ่ายหนี้ในแต่ละเดือน และจัดสรรเงินจากที่ไหนมาจ่ายได้บ้าง 

การรวบรวมสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด และหนี้สิน ให้เห็นภาพรวมอย่างชัดเจน ทำให้สามารถวางแผนในการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำ หรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายให้สามารถชำระหนี้สินต่างๆ ไปได้ หากต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อการเงินของเรา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 ขั้นตอนที่ 2 : ทำรายรับ รายจ่าย 

หลังจากที่มองเห็นภาพใหญ่ว่าเรามีทรัพย์สินอยู่เท่าไร มีรายได้จากทางไหนบ้างแล้ว สิ่งที่ต้องทำในปัจจุบันและอนาคตคือการ "ทำรายรับรายจ่าย" ที่ทำให้เห็นภาพการเงินของตังเองมากขึ้นตั้งแต่วินาทีนี้

ปัจจุบันการทำรายรับรายจ่าย สามารถทำได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การจดลงสมุดสุดคลาสสิก หรือจะใช้วิธีบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือ หรือใช้แอพพลิเคชั่นที่มีฟีเจอร์การเก็บเงินต่างๆ ที่ช่วยจัดการรายรับรายจ่ายได้ง่ายๆ หรือแม้แต่การติดตามการใช้จ่ายผ่าน E-Banking หรือบัตรเครดิตที่ทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ชัดเจนก็ถือว่าเป็นตัวช่วยในการทำรายรับรายจ่ายได้เช่นกัน 

หัวใจของการทำรายรับรายจ่ายก็คือทำให้เห็น "ความจริง" ของการใช้จ่ายของตัวเอง ที่นอกจากจะรู้ว่าเงินถูกใช้ไปไหนบ้าง รายรับกับรายจ่ายของเราสมดุลหรือไม่ นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้วิเคราะห์ในภายหลังว่า อะไรคือ Need (ความจำเป็น) และอะไรเป็นเพียง​ Want (ความต้องการ) ที่ช่วยให้สามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้เมื่อถึงเวลาคับขันได้ง่ายกว่าด้วย 

 ขั้นตอนที่ 3 : วางแผนการใช้จ่าย 

สิ่งสำคัญที่ต้องตามมากับการทำรายรับรายจ่าย ณ เวลาปัจจุบัน คือการ "วางแผนการใช้เงิน" ให้ชัดเจน หรือ "จำกัดการใช้เงิน" หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ซื้อของที่ไม่จำเป็น ในกิจกรรมต่างๆ หรือพิจารณาการจับจ่ายแต่ละครั้งให้รอบคอบยิ่งขึ้น

เช่น ตั้งงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ชัดเจนใน 1 สัปดาห์ เช่น สัปดาห์ละ 1,000 บาท เพื่อจำกัดการใช้จ่ายไม่ให้กระทบกับเงินในการชำระหนี้อื่นๆ ซึ่งการจับจ่ายในช่วงนี้อาจจะต้องตึงขึ้นกว่าเดิม เพื่อรักษาเงินสดที่มีอยู่กับเราให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ สำหรับคนที่กำลังจะซื้อของใหญ่ที่มีภาระหนี้ตามมาในระยะยาว อาทิ บ้าน รถยนต์ ที่อัดโปรโมชั่นอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้ จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบกว่าปกติ เนื่องจากการสร้างรายจ่ายถาวรในสภาวะที่รายได้ไม่ถาวร เป็นเรื่องที่อันตราย หากยังไม่พร้อมจริงๆ

 ขั้นตอนที่ 4 : หาทางเพิ่มสภาพคล่อง 

เมื่อโควิด-19 กระทบเงินในกระเป๋าของเราแน่ๆ สิ่งที่ต้องทำคือการ "ยอมรับ" และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด และเมื่อการเงินของเรากำลังดิ่งเหว สิ่งที่จะทำให้การเงินกลับมาได้คือการ "หารายได้เพิ่ม" แม้จะฟังดูยาก และทำได้ยาก แต่นี่จะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนที่สุดหากทำสำเร็จ

การ "หารายได้เพิ่ม" คือการเติมสภาพคล่องเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่สามารถทำควบคู่ไปกับขั้นตอนอื่นๆ ได้ ซึ่งการหารายได้เพิ่มทำให้สามารถประคับประคองให้ผ่านวิกฤติไปได้ โดยอาจเป็นการต่อยอดจากทักษะเดิมที่ตัวเองมี หรือหาวิธีการสร้างรายได้ใหม่ๆ ที่ไม่ต้องลงทุนด้วยเงิน หรือสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วได้ เช่น การถ่ายภาพขายในเว็บไซต์ขายภาพต่างๆ ด้วยโทรศัพท์มือถือหรือกล้อง การเขียนบล็อก E-book หรือนิยายออนไลน์ในแพลตฟอร์ม หรือการสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าออนไลน์แบบไม่ต้องสต๊อกสินค้า เป็นต้น 

"การทำอะไรใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องใช้พลังอย่างมาก โดยสิ่งที่เรียนรู้ใหม่อาจไม่ตรงกับสายที่เราเรียนมาเลย ที่ต้องอดทนในช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวมันจะช่วยให้เราสามารถผ่านมันไปได้ในช่วงวิกฤติเช่นนี้" จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เดอะมันนี่ โค้ช กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

อุบัติเหตุทางการเงิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สำหรับคนที่วางแผนการเงินไว้อย่างรัดกุมกว่า ย่อมได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเงินอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีท่าทางจะจบลงง่ายๆ ในตอนนี้