สรท.ชำแหละปัจจัยฉุดส่งออกปี64 บาทแข็ง-โควิด-โลจิสติกส์ป่วน
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ จีดีพี ของไทย ที่ขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออกในสัดส่วนสูงถึงราว 70% ของจีดีพี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐจะต้องดูแลการส่งออกให้แข็งแกร่ง พร้อมเร่งขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆโดยเร็ว
การส่งออกช่วง 11 เดือนปี 2563 (ม.ค.- พ.ย.) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 211,385 ล้านดอลลาร์ หดตัว 6.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 187,872 ล้านดอลลาร์ หดตัว 13.74% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 23,512 ล้านดอลลาร์ ภาพรวมการส่งออกไทยเมื่อปีก่อน กำลังสะท้อนว่าการส่งออกจะไปต่ออย่างไรในปี2564นี้
กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าสรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวลดลง ระหว่าง -7% ถึง -6% และคาดการณ์ ปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือน ม.ค. 2564) ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และมองว่าการส่งออกในไตรมาส 1 ปี2564 ยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
“ต้องรอดูตัวเลขการติดเชื้อในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ที่จะบ่งบอกถึงความเสี่ยงของสถานการณ์ หากมองดูภาคอุตสาหกรรมก็ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร”
ปี 2564 มีปัจจัยบวกจากสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากการระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1.การกลับมาระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ ที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
2.ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยังไม่คลี่คลาย ฉะนั้น ในระยะสั้น 6 เดือนหากยังไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ไม่รู้ว่าตัวเลขการส่งออกที่คาดการณ์ไว้ จะเติบโต 3-4% จะทำได้หรือไม่
3. ค่าเงินบาท ที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มจับตาใกล้ชิด (Monitoring List) โดยเฉพาะประเด็นการเป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินจากรายงานด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐ
“วันนี้ เห็นเงินบาทต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ ไม่สบายใจ ผู้ส่งออกไม่ได้ขอให้รัฐแทรกแซงค่าเงินบาท แต่เงินไหลเข้าตลาดทุนระยะสั้น ปริมาณที่มาก ทำให้ค่าเงินไทยผันผวนรวดเร็ว อุตสาหกรรมเราพังจากการเก็งกำไรค่าเงินโดยบริษัทและนักลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในประเทศที่สามารถจ่ายเป็นเงินดอลลาร์ได้ก็ควรดำเนินการ”
4. ราคาน้ำมันที่อาจมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562 จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลการชะลอตัวลงของการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น
ทั้งนี้ สรท. จึงมีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ ดังนี้ ให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนภายใน 2 เดือน ได้แก่ มาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือต่ออายุมาตรการที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ระบาดในรอบแรก อาทิ ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขยายระยะเวลาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ขยายระยะเวลาการชำระภาษี ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ปรับลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่
รวมถึงขอให้ ธปท. เร่งออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยผู้ประกอบการ อาทิ ขอให้ ธปท. เพิ่มบทบาทธนาคารรัฐในการอนุมัติสินเชื่อมาตรการ Soft loan ให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนพรก. soft loan ธปท.ได้มีต่ออายุมาตรการไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 18 เม.ย. 2564 และการปรับปรุงกฎเกณฑ์บางส่วนในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs มากขึ้น
นอกจากนี้ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน เช่น 1. เร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ 2. ลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่า3. มีมาตรการช่วยเหลือกรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ 4. อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่เข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวร และ5. ตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศเพื่อหมุนเวียนใช้งาน
ส่วนมาตรการระยะยาว ต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy เร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี
สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรง แต่การประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผานมา ทำให้การขนส่งสินค้าหรือกระบวนการโลจิสติกส์ชะงักลง