“วัคซีนโควิด-19” ข้อพิจารณาก่อนฉีด-ไม่ฉีด
ก่อนที่คนไทยซึ่งเป็น 4 กลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนฟรีจากรัฐ คือ บุคลากรทางการทางการแพทย์ ผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในการป้องกันควบคุมโรค ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น และผู้ที่มีโรคประจำตัว และคนไทยที่มีกำลังทรัพย์จ่ายเงินฉีดวัคซีนเอง จะตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีด
จะต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาต่างๆอย่างรอบคอบ เพราะวัคซีนโควิด-19ที่อนุญาตให้ใช้ช่วงนี้นั้นเป็นการอนุมัติในภาวะฉุกเฉิน
ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19ที่ผ่านการทดลองในคนระยะที่ 3และประกาศถึงประสิทธิภาพวัคซีนแล้ว ล้วนเป็นการผลิตในต่างประเทศและแม้ว่าจะได้รับการรับรองวัคซีนในต่างประเทศแล้ว แต่การที่จะนำเข้ามาฉีดให้กับคนไทยนั้น จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนและอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของประเทศไทยก่อน รวมถึง วัคซีน 2 ตัวแรกที่รัฐบาลจัดซื้อมาฉีดฟรีให้กับประชาชนของซิโนแวคและแอสตราเซนเนก้าด้วย เช่นเดียวกัน หากบริษัทเอกชน หรือรพ.เอกชนจะให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19กับประชาชน ก็จะต้องยื่นขออนุญาตเป็นผู้นำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนั้นก่อน
ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 อย.จะพิจารณาการขึ้นทะเบีนในแบบภาวะฉุกเฉิน โดยจะอนุญาตให้ใช้ได้เพียง 1 ปี และสามารถเพิกถอนอนุญาตได้ตลอดเวลา หากมีสิ่งใดเกิดขึ้น
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า วัคซีนที่ใช้ ในปัจจุบัน แบ่งการป้องกันเป็น
1.ป้องกันการติดเชื้อ จะไม่แพร่โรค ไม่เกิดการป่วย
2.ป้องกันการเกิดโรค ไม่ป้องกันการติดเชื้อ จะไม่เป็นโรค แต่อาจแพร่เชื้อได้
3.ลดความรุนแรงของโรค ไม่ป้องกันการติดเชื้อ เป็นโรคได้ แต่ไม่รุนแรง ไม่เข้าโรงพยาบาล ไม่ตาย
โควิด 19 วัคซีน ในปัจจุบันผลการศึกษาที่ออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นการป้องกัน การเกิดโรค ลดอาการของโรคและไม่ตาย ไม่ได้มีการศึกษา ป้องกันการติดเชื้อ เมื่อให้วัคซีน อาจติดเชื้อได้ การติดเชื้อโอกาสแพร่กระจายโรคได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ทราบ
ดังนั้น เมื่อวัคซีนโควิด 19 สามารถลดความรุนแรง ลดการเข้าโรงบาล เราก็พอใจในระดับหนึ่ง รอข้อมูลการศึกษาว่าจะป้องกันการติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน การศึกษาจะต้องทำและมีรายละเอียดติดตามยากแต่ ถ้าติดเชื้อไม่มีอาการ กล่าวคือทุกคนต้องตรวจเชื้อ ป้ายจากคอมาเปรียบเทียบกันจึงจะรู้
ศ.นพ.ยง ให้สัมภาษณ์เรื่อง ความหวังคนไทยกับวัคซีนโควิด-19 ผ่านรายการ NBTรวมใจ สู้ภัยโควิด-19 เมื่อเร็วๆนี้ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับคำถามควรจะฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ว่า แต่ละคนจะต้องตัดสินใจของเราเอง ว่าหากติดเชื้อแล้วเปอร์เซ็นต์อาการรุนแรงของเรามากน้อยแค่ไหน ติดเชื้อแล้วมีโอกาสปอดบวมหรือเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน
โดยหากอายุ 20 ปี โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000-10,000 คน อายุตั้งแต่ 50 ปี โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 1% อายุตั้งแต่ 60-70 ปีโอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 3-4 % อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้น โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 10 % และอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปโอกาสจะเสียชีวิตอาจมากถึงเกือบ 20% รวมถึง มีโรคประจำตัวหรือไม่ และต้องพิจารณาความเสี่ยงในการรับเชื้อมีมากน้อยแค่ไหนด้วย
สมมติอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมากๆ โอกาสที่โรคนี้จะเข้าถึงยากมาก ก็จะจัดลำดับตัวเองในการฉีดวัคซีนไว้อยู่ลำดับหลังๆแล้วให้คนอื่นฉีดไปก่อน แต่ถ้ามีความเสี่ยงในการรับโรคมาก เพราะเป็นแพทย์ต้องไปดูคนไข้ทุกวันหรือมีโรคพื้นฐานมาก และโอกาสติดเชื้อแล้วรุนแรง ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะฉีด แต่ถ้าอายุ 20 ปี สุขภาพแข็งแรงดี สามารถรอได้กะรอ ก็ไม่รีบฉีด ในเมื่อขณะนี้ตลาดวัคซีนยังเป็นของผู้ผลิต ก็จะรอให้ตลาดเป็นของผู้ฉีดก่อนแล้วค่อยเลือกฉีดก็ได้
“ทุกคนมีสิทธิตัดสินใจที่จะฉีดหรือไม่ฉีดอยู่ที่ทุกคนเอง โดยจะต้องพิจารณาตามความเสี่ยงของแต่ละคน แล้วชั่งน้ำหนัก ผมไม่ได้มาบอกว่าต้องหรือไม่ต้องฉีด ในส่วนของกลยุทธ์ในการฉีดวัคซีนนั้น หากต้องคิดแทนครอบครัว ประชาชนสามารถเลือกได้เช่นกันว่า จะฉีดให้กับบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น ผู้สูงอายุภายในบ้าน หรือจะฉีดให้กับกลุ่มที่แพร่เชื้อง่าย เช่น กลุ่มวัยทำงานที่ยังแข็งแรงอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อเข้าสู่บุคคลภายในบ้านก็ได้”ศ.นพ.ยงกล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า วัคซีนโควิด-19ที่ทั่วโลกมีการฉีดแล้วมากที่สุด คือ ชนิดเชื้อตายที่ฉีดแล้วในประเทศจีน สหรับอาหรับเอมิเรต และบาห์เรนกว่า 10 ล้านโดส และชนิดmRNAของไฟเซอร์ ฉีดไปแล้วมากกว่า 10 ล้านโดสเช่นกัน ทั้งนี้ ในอดีตวัคซีนที่จะเข้ามาฉีดในประเทศไทยจะต้องมีการศึกษาในประเทศก่อน ถึงแม้จะมีการศึกษาในต่างประเทศสิ้นสุดถึงระยะที่ 3แล้วก็ตาม เนื่องจากการตอบสนองต่อวัคซีนอาจจะเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ คนผิวขาว คนผิวสี คนผิวเอเชีย เหล่านี้ยังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19ว่าต่างเผ่าพันธุ์ การตอบสนองหรือการแพ้ต่อวัคซีน หรืออาการข้างเคียงของวัคซีนเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง บอกว่า ตนเองได้ทำแบบสอบถามออนไลน์ร่วมกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีข้อคำถามหนึ่งคือ ถ้ารัฐบาลมีวัคซีนโควิด-19ให้ฉีดฟรีจะฉีดหรือไม่ โดยตัวเลือกแบ่งเป็น 7 ช่อง ตั้งแต่ไม่ฉีดแน่นอน ไปจนถึง ฉีดแน่นอน เพื่อดุแนวโน้มว่าอยากฉีดขนาดไหน ตอบแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 33,000 คนแทบจากทุกจังหวัด พบว่า มีประชาชนตอบฉีดแน่นอนราว 55 % ไม่ฉีดวัคซีนแน่นอนราว 5% และแนวโน้มที่จะฉีดและโอกาสที่จะฉีด 85 % แสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มและสนใจที่จะฉีดวัคซีน และถ้ามีวัคซีนให้เลือก ประชาชนอยากเลือกฉีดวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา หรือทวีปยุโรปมากกว่าของจีนหรือไทย แต่ไม่แตกต่างกันมากนัก
ขณะที่ ศ.คลินิก นพ. อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊คใจความว่า เพื่อนถามจะฉีดวัคซีนเลยหรือไม่เป็นแพทย์ได้สิทธิก่อน ถ้าตนจะฉีดต้องเช็คผ่านทั้ง 4 ข้อ คือ 1.วัคซีนไม่มีเชื้อที่มีชีวิตและไม่แพ้ โดยทั่วไป วัคซีน เป็น ส่วนของโปรตีน แพ้ได้ และ บางครั้งใช้เชื้อไวรัสจริง แต่ต้องทำให้เชื้อตายก่อนมาเป็นวัคซีน 2.ฉีดแล้วสามารถกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันขึ้น ป้องกันโรคได้ ซึ่งภูมิคุ้มกันมักจะขึ้นหลัง 2 สัปดาห์ และ ต้องขึ้นสูงพอที่จะป้องกันโรค
3.ภูมิคุ้มกันคงอยู่นานพอที่จะป้องกัน ไม่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เรารู้จักว่า วัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยักต้องฉีด 3 ครั้ง วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีด 5 ครั้ง(ในอดีตฉีด 21 ครั้ง) จึงต้องมีข้อมูลพอ ที่บอกว่า ต้องฉีดกี่ครั้ง ห่างกันเท่าใด จึงจะมีภูมิคุ้มกันสูงพอ และ4.ไม่ทำให้โรคเป็นมากขึ้น เมื่อสัมผัสโรค โดยวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้รู้จักเชื้อโรค และทำลายเชื้อโรคได้ แต่บางกรณี วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคมากเกินไป จนเกิดภาวะเหมือนภาวะแพ้ยา แพ้มด หรือ แพ้เลือด ซึ่งอาจจะเป็นอันตราย กรณีนี้ เรามีบทเรียนจาก วัคซีนไข้เลือดออก ทำให้ วัคซีนไข้เลือดออกยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม
“จากทั้ง 4 ข้อ จะเห็นว่า ข้อ 1, 2 วัคซีนส่วนใหญ่ในตลาด เราจะเห็นว่า ผ่านแล้ว แต่ ข้อ 3 และ 4 จำเป็นต้องรอผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง อีกจำนวนมาก และ ต้องการเวลา ในการรอดูผลอีกพอสมควร ผมถามตัวเอง 4 ข้อ ก่อนที่จะตอบว่า ฉีดวัคซีนเลยหรือไม่”ศ.คลินิก นพ.อดุลย์กล่าว
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า การ"ตัดสินใจเลือก"ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19ของตนเอง พิจารณาแค่ 2 ปัจจัย ส่วนราคาไม่พิจารณาเพราะจะฉีดฟรี คือ 1.ประสิทธิผล คือ ประสิทธิภาพ หรือสร้างภูมิคุ้มกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ บวกกับการป้องกันได้นานพอสมควร ราว 6-12เดือน แต่ประเด็นเวลายังไม่มีบริษัทไหนรายงาน เพราะผลิตใหม่ทั้งหมดในเวลาไม่นานนัก) ซึ่งวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากเชื้อตาย โดยธรรมชาติ ประสิทธิภาพ จะต่ำกว่าวิธีอื่นๆ โดยวัคซีนของ sinovacใช้วเทคโนโลยีนี้ และ2.ความปลอดภัย ซึ่งการใช้เทคโนโลยี การผลิตวัคซีน ไวรัสตัวอื่นๆในอดีต นักวิทยาศาสตร์คุ้นเคยกับเชื้อตาย และใช้ไวรัสเป็นพาหะนำปุ่มโปรตีนของเชื้อโรคโควิดเข้าไป โดยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าใช้เทคโนโลยีนี้ ดังนั้น จึงมั่นใจ ในความปลอดภัยพอควร
“ส่วนวิธีใหม่ล่าสุดใช้เป็นครั้งแรกของโลกคือ mRNA ซึ่งวัคซีนโควิด-19ของโมเดอร์นา และไฟเซอร์ใช้เทคโนโลยีนี้ ขณะนี มีการฉีดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายงานข่าวเรื่องแพ้รุนแรง ถึงแก่ชีวิตก็มี สรุปผมฉีดหลัง พ.ค.2564 ของบริษัทแอสตราเซนเนก้า ช่วงนี้ก็อยู่ห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ รอก่อน”นพ.วชิระกล่าว
ท้ายที่สุด นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนโควิด-19 ย้ำว่า การให้วัคซีนนั้นเป็นการป้องกันภายใน เมื่อฉีดแล้วหากได้รับเชื้อร่างกายจะมีสิ่งเข้าไปต่อสู้ แต่การป้องกันภายนอก ไม่ให้เชื้อเข้าร่างกายยังมีความสำคัญด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล