การเมือง
"3รมต." แจงข้อกล่าวหาฝ่ายค้าน แทน "นายกฯ" ยันไม่ละเลยการทำงาน
วิษณุ-สมศักดิ์-อนุพงษ์ ตอบข้อกล่าวหาฝ่ายค้าน แทน "นายกฯ" ยันไม่ละเลยการทำงาน -ปราบบ่อน - เอื้อประโยชน์โฮปเวลล์
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อกรณีการชำระค่าเสียหายจากโครงการโฮปเวลล์ ให้กับเอกชน ตอนหนึ่ง โดยยืนยันว่ากรณีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดกับบุคคลที่สร้างความเสียหายนั้น ไม่หมดอายุความในเดือนเมษายน 2564 เนื่องจาก ตามมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่กำหนดให้ฟ้องร้องไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ เพื่อชำระค่าเสียหาย แต่เรื่องดังกล่าวรัฐยังไม่เคยจ่ายค่าเสียหาย แม้ศาลจะตัดสินให้รัฐต้องชดใช้ แต่เมื่อรัฐยังไม่ชดใช้ จึงไม่สามารถไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือรัฐมนตรีได้
“ไม่ใช่เพราะคดีไม่ถึงที่สุด แต่รัฐไม่ได้ชำระเงิน เมื่อไม่ได้จ่าย จึงไม่เสียหาย การนับอายุความคือ นับจากวันที่ชดใช้ อย่างไรก็ดีอายุความยังกำหนดไว้ในมาตรา 10 ด้วย แต่กำหนดว่า เจ้าหน้าที่รัฐสร้างความเสียหาย หรือละเมิดรัฐ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าท่ีรัฐ เช่น ผู้ว่าการรถไฟ รัฐมนตรี กระทำละเมิดต่อกระทรวงคมนาคม ดังนั้นจึงไม่นำมาใช้ในกรณีดังกล่าว ดังนั้นกรณีการนับอายุความ 1 ปี จะเริ่มเมื่อรัฐจ่ายค่าชดใช้ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ดังนั้นกรณีดังกล่าวยังเป็นปัญหาพิจารณาต่อไป” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ชี้แจงต่อกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตนและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เสมือนรับตำแหน่งใหม่ ต่อ ป.ป.ช. แม้กฎหมายจะมีข้อยกเว้นสำหรับรัฐมนตรีที่รับตำแหน่งต่อเนื่อง ส่วนจะประกาศหรือไม่เป็นเรื่องหน่วยงาน ส่วนกรณีดัชนีการทุจริต หรือ ซีพีไอ ที่ประกาศให้ไทยได้คะแนน 36 คะแนน จาก 100 คะแนน ตนขอชี้แจงว่าเป็นคะแนนที่ประเทศไทยยืนอันดับดังกล่าวมานานหลายปี ส่วนอันดับที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เป็นเพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีประเทศที่เข้ารับการประเมิน ถึง 108 ประเทศ
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย พาดพิงต่อกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาบ่อนการพนัน ว่า ตนขอปฏิเสธเรื่องดังกล่าว อีกทั้งนายกรัฐมนตรีไม่เคยสั่งการมายังตน ทางโทรศัพท์เรื่องบ่อนการพนัน มีเพียงข้อสั่งการให้แก้ปัญหายาเสพติด โดยมีนโยบายและแนวทางชัดเจน ต่อการตัดวงจรยาเสพติด ยึดทรัพย์ ตั้งเป้าทำให้ได้ ปีละ 60,000 ล้านบาท แต่เป็นการคิดใหม่ ทำใหม่ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี ขณะนี้แนวทางแก้ปัญหายาเสพติด ต้องอาศัยมาตรการที่สำคัญ อาทิ มาตรการความร่วมมือกับต่างประเทศ , มาตรการปราบปรามยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นตนขอความร่วมมือให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเร่งรัดการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติด
“การปราบปรามยาเสพติด ด้วยการยึดทรัพย์ ได้กำหนดตัวชี้วัด โดยทุกจังหวัดต้องดำเนินการแบบบูรณาการ โดยใน 18 จังหวัดขนาดเล็กต้องขยายผล และยึดทรัพย์ ให้ได้ จังหวัดละ 50 ล้านบาท รวม 900 ล้านบาท , จังหวัดขนาดกลาง 31 จังหวัด ตั้งเป้าจังหวัดละ 70 ล้านบาท รวม 2,170ล้านบาท, จังหวัดขนาดใหญ่ จำนวน 27 จังหวัด ตั้งเป้ายึดทรัพย์ให้ได้จังหวัดละ 90 ล้าน รวมเป็นเงิน 2,430 ล้านบาท และกทม. จำนวน 500 ล้าน ซึ่งในปีที่ผ่านมา จับและยึดทรัพย์ได้เพียง 600 ล้านบาท อย่างไรก็ดีในการปฏิบัติการพาลีปราบยา ที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และยึดทรัพย์ สามารถอายัดทรัพย์ได้กว่า 1,900 ล้านบาทแล้ว” นายสมศักดิ์ ชี้แจง
ขณะที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงประเด็นเรื่องบ่อนการพนัน โดยยืนยันว่าตนให้นโยบายกับหน่วยงานในสังกัด และสั่งการไปในพื้นที่ ว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบ่อนการพนัน การค้ามนุษย์ หรือมีส่วนได้รับผลประโยชน์ ทั้งนี้หน่วยงานปกครองยังให้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงานต่อการปราบปรามบ่อนการพนัน, การค้ามนุษย์, แรงงาน เพื่อไม่ให้แผ่นดินนี้มีปัญหาอาชญากรรม นอกจากนั้นยืนยันว่ารัฐบาลคำนึงและให้ความสำคัญกับข้อมูลจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ส่วนกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่าการเก็บข้อมูลดังกล่าวล่าช้า นั้นเป็นเพราะผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการจัดสรรงบภัยแล้ง ว่า ได้รับฟังความต้องการของประชาชนและต้องการตอบสนองประชาชน หากพบการทุจริต ตนจะดำเนินการ ส่วนกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ต้องทำรายงาน ตนได้ทำส่ง 12 กันยายน 2562 ส่วนการประกาศหรือไม่ นั้น เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.