"สถาบันกัญชาทางการแพทย์" แหล่งความรู้ เชื่อมธุรกิจ
สธ.เปิด"สถาบันกัญชาทางการแพทย์" ก้าวต่อไปของกัญชา กัญชง พืชเศรษฐกิจ ยกระดับมูลค่า เสริมแหล่งความรู้ เชื่อมภาคธุรกิจกับวิสาหกิจชุมชน ปลูกถูกต้องตามกฎหมายสู่สินค้า ผลิตภัณฑ์คุณภาพ
วันนี้ (22 ก.พ.2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์ พร้อมมอบนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ปี 2564
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายกัญชา กัญชง ทางการแพทย์จนสามารถปลดล็อคให้ บางส่วนของกัญชา กัญชง ออกจากการควบคุมยาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย กว่า 50,000 ราย จากสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 300 กลุ่ม เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาผลิตเป็นน้ำมันกัญชา และส่วนผสมของยากัญชาแผนไทย เพื่อรักษาในกลุ่มโรคต่างๆ อาทิ โรคลมชัก โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, โรคมะเร็ง, นอนไม่หลับ, ปวดเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากนั้น มีระบบการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยากัญชา เพื่อสร้างหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนการใช้และขึ้นทะเบียนยากัญชาในอนาคต นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เร่งพิจารณายากัญชาเข้าสู่รายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะสร้างให้เกิดอุปสงค์ที่ยั่งยืน เกิดการปลูก การผลิต รวมถึงต่อยอดให้เกิดการศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นต้น
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การผลักดันนโนบายกัญชาทางการแพทย์ ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เกิดการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง คือสายพันธุ์กัญชากัญชงที่มีคุณภาพ กลางทาง คือ การผลิตและจำลองภาพพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ตรงความต้องการของตลาด และปลายทาง คือ การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ
"การเปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์เพื่อเป็นหน่วยงานหลัก และศูนย์กลางความร่วมมือ ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภายนอก ในการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชงทางการแพทย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกัญชา กัญชง ที่ถูกต้อง รวดเร็ว แก่ประชาชนและสาธารณะ ตามหลักวิชาการด้านการแพทย์ที่เหมาะสม" นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีวิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคการศึกษา และภาคธุรกิจเข้าร่วมกว่า 10 แห่ง อาทิ บริษัท ห้องปฎิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้เข้ามาให้ความรู้ คำแนะนำ และการบริการทดสอบทางห้องปฎิบัติกา เพื่อสนับสนุนและยกระดับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผู้ประกอบการส่งออก SMEs OTOP วิสาหกิจชุมชน นักวิจัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคภายในประเทศ
เช่นเดียวกับ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม อย่าง Black canyon และร้านเขียวไข่กา ที่ได้มานำเสนอเมนูอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ไม่ว่าจะเป็น แกงเขียวหวาน ที่มีส่วนผสมของใบกัญชา 2 ใบ หรือข้าวยำบูดูใบกัญชา ที่มีส่วนผสมใบกัญชา 1 ใบ หรือเครื่องดื่ม อาทิ ชาไทยเฉาก๊วยตาหวาน ชามะลิร้อนตาเยิ้ม และขนมบราวนี่ เป็นต้น ซึ่งทุกเมนูล้วนได้มีการกัญชา กัญชงเป็นส่วนผสม อีกทั้ง มีสินค้า และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์มากมายที่สกัดมาจากกัญชา และกัญชง
ธนพร พรสง่ากุล นักวิชาการวิสาหกิจศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่าการที่ประเทศไทยได้ปลดล็อคกัญชากัญชงออกจากยาเสพติด มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทย เพราะกัญชากัญชงมีคุณสมบัติที่หลากหลาย และสามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอางค์ แต่ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุม และเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ทั้งผู้ปลูก ผู้ประกอบการที่ต้องการนำสกัดกัญชาเป็นส่วนผสม และต้องรู้ทั้งด้านการตลาด และด้านกฎหมาย เพราะกัญชงและกัญชง แม้จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้แต่ต้องใช้ในปริมาณที่จำกัด ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชน ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แก่วิสาหกิจชุมชนได้พบเจอกับพันธ์มิตร คู่ค้าทางธุรกิจอีกด้วย