Weekly Oil 22 February 2021

Weekly Oil 22 February 2021

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง ท่ามกลางความกังวลกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงจากสภาพอากาศที่หนาวผิดปกติ และขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58-63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 - 26 ก.พ. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติที่บริเวณรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ทำให้การผลิตน้ำมันดิบ ณ บริเวณดังกล่าวต้องหยุดดำเนินการเฉลี่ยราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ  นอกจากนั้นราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสภายในวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันดิบอาจปรับลดลง หากกลุ่มโอเปคพลัสปรับเพิ่มกำลังการผลิต ในเดือนเม.ย.64         

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเนื่องจากตลาดกังวลปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติในรัฐเท็กซัส ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่าน ทำให้การผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และโรงกลั่นน้ำมันราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการ เนื่องจากระบบไฟฟ้าในโรงกลั่นน้ำมันไม่สามารถทำงานได้เพราะท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นหยุดดำเนินการ และระบบไฟฟ้าทั่วเมืองเท็กซัสดับ ทำให้ประชาชนกว่า 4 ล้านคนได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นท่าเรือส่งออกในรัฐเท็กซัสและท่าเรือส่งออก LNG ต้องหยุดดำเนินการเช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม คาดว่าสภาพอากาศจะกลับสู่ปกติภายในสัปดาห์นี้
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะบังคับใช้เร็วกว่าที่คาดไว้ โดยล่าสุดสภาคองเกรสคาดว่าจะเห็นชอบต่อแนวทางการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในวันที่ 26 ก.พ.นี้ ซึ่งส่งผลให้มาตรการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ก่อน 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีขึ้น
  • กลุ่มโอเปคพลัสยืนยันนโยบายการลดผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงที่ระดับ 125 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียอาสาลดกำลังการผลิตลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนก.พ. - มี.ค. 64 อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปคพลัสจะมีการประชุมในวันที่ 4 มี.ค. 64 เพื่อพิจารณาระดับการลดกำลังการผลิต โดยตลาดคาดว่าซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มโอเปคพลัสมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตนับตั้งแต่เดือน เม.ษ.64 เป็นต้นไป หลังราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง แต่จะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตในปริมาณน้อยราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาระดับราคา
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมืองใหญ่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 12 ก.. 64 ปรับลดลงกว่า 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 462 ล้าน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ซึ่งสอดคล้องกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลด 2.4 ล้านบาร์เรล
  • แรงงานของบริษัทน้ำามันนอร์เวย์เตรียมประท้วงเรียกร้องจากค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อสมาคมผู้ผลิตก๊าซและน้ำมันนอร์เวย์ (NOG) บริเวณท่าส่งออกน้ำมันนอร์เวย์ขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะกระทบถึงปริมาณการผลิตน้ามันดิบราว 680,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตในประเทศ และก๊าซธรรมชาติราว 850,000 บาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจีน ดัชนีผู้บริโภคกลุ่มยูโรโซนเดือน ม.ค. 64 GDP สหรัฐฯไตรมาส 4/63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 ก.พ. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 59.24 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.48 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 62.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60.92  ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตลาดคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน และยังได้รับแรงหนุนจากการหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯเนื่องจากสภาพอากาศหนาวกว่าปกติ และการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัส รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง หลังกลุ่มกองทัพอากาศของกลุ่มฮูตีได้โจมตีสนามบินและฐานทัพอากาศในซาอุดิอาระเบียด้วยโดรน ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น