เปิดแผน5ปี'เอชเอสบีซี'ลงทุนเพิ่มเอเชีย
เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ หนึ่งในธนาคารรายใหญ่สุดของโลก มีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประกาศแผนลงทุนเพิ่มประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ในเอเชียช่วง5ปีข้างหน้าแม้ว่าผลกำไรของธนาคารปรับตัวลดลง 35% เหลือ 3,900 ล้านดอลลาร์
เอชเอสบีซี ซึ่งทำกำไรจากการดำเนินงานได้มากที่สุดในฮ่องกงและจีน ระบุวานนี้(23ก.พ.)ว่า ผลกำไรเมื่อปีที่แล้วร่วงลง 35% อยู่ที่ 3,900 ล้านดอลลาร์ ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่สร้างความปั่นป่วนแก่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับเอชเอสบีซี กันสำรองหนี้เสียในปีที่แล้วไว้จำนวน 8,820 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าเมื่อปี2562 ที่กันสำรองไว้ไม่ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์
“โนเอล ควินน์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) ซึ่งเป็นผู้นำองค์กรในการปรับโครงสร้างใหญ่ธนาคาร กล่าวว่า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและประเทศตะวันตกสกัดกั้นความทะเยอทะยานของเขาที่จะทำให้ธนาคารเป็นสะพานทางการเงินระหว่างประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและประเทศอื่นๆของโลก โดยเมื่อปีที่แล้ว เอชเอสบีซี ให้การสนับสนุนกฏหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนในฮ่องกงสวนทางกับรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลอังกฤษที่คัดค้านกฏหมายนี้
“เรามีแผนที่จะให้ความสำคัญและลงทุนในด้านต่างๆที่เป็นจุดแข็งที่สุดของเรา ซึ่งคือการเพิ่มลงทุน 6,000 ล้านดอลลาร์ในธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งและธุรกิจรายใหญ่เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในเอเชีย นอกจากนี้ เอชเอสบีซียังใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบดิจิทัลให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังมีแผนสร้างธุรกิจการเงินอย่างยั่งยืนด้วย”ควินน์ กล่าว
นอกจากนี้ เอชเอสบีซี ยังยืนยันที่จะขายธุรกิจธนาคารแก่ลูกค้ารายย่อยในฝรั่งเศสแก่ผู้สนใจและขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากันอยู่ เอชเอสบีซี ซึ่งก่อตั้งในฮ่องกงและนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2408 ขยายธุรกิจธนาคารไปทั่วโลกในช่วงปี 2533 และต้นปี 2543ผ่านการเข้าครอบครองกิจการที่ใช้ต้นทุนสูง
จากนั้นธนาคารได้ขยายธุรกิจธนาคารเข้าสหรัฐในปี 2546 ด้วยการเข้าครอบครองกิจการเฮาส์โฮลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ผู้ปล่อยกู้แก่ลูกค้าซับไพรม์ ในวงเงิน 16,000 ล้านดอลลาร์ แต่การเข้าครอบครองกิจการครั้งนี้เป็นการเพิ่มหนี้ให้แก่ธนาคารหลายพันล้านดอลลาร์และเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องดำเนินคดีมากมายหลังเกิดการเงินโลกปี 2551 เอชเอสบีซีจึงขายธุรกิจบัตรเครดิตในสหรัฐให้แก่แคปิตัล วัน ไฟแนนเชียล คอร์ป ในปี 2555
แต่การขยายธุรกิจเข้าไปในสหรัฐ กลับทำให้ธนาคารประสบปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กล่าวหาว่าธนาคารฟอกเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดในเม็กซิโกและปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรประเทศต่างๆ เช่น อิหร่าน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบและคดีนี้ ทำให้เอชเอสบีซีต้องจ่ายเงินมากเป็นประวัติการณ์ถึง1,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2555เพื่อยอมความตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเอชเอสบีซี ยอมรับว่าทำผิดจริง
ส่วนในสหราชอาณาจักร เอชเอสบีซีเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้่นเพราะการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู) ส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ปรับตัวร่วงลงกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าในปี 2563 แต่ราคาหุ้นของธนาคารก็เพิ่มขึ้น 14% ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงวันจันทร์(22ก.พ.) ส่วนวันอังคาร(23ก.พ.)ราคาหุ้นของธนาคารซึ่งซื้่อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงทะยานกว่า 4% ในการซื้อขายช่วงบ่าย
“การดำเนินงานของเอชเอสบีซีในยุโรปอยู่ภายใต้แรงกดดันเช่นกัน การที่อังกฤษออกจากอียู ทำให้ต้องเปิดการเจรจาต่อรองทางการค้า ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มีการเจรจาต่อรองทางการค้า การจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย” แถลงการณ์เอชเอสบีซี ระบุ
การยกเครื่ององค์กรแบบสุดขั้วของควินน์ ถือเป็นการปรับโครงสร้างที่ลงลึกในรายละเอียดที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอเชเอสบีซี เกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ทันสมัย และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทอล
ช่วงปลายปีที่แล้ว ธนาคารประกาศแผนปลดพนักงานครั้งใหญ่ หลังจากธุรกิจของธนาคารได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 โดยในระยะกลางนี้ จะมีการปลดพนักงานราว 35,000 คน
ควินน์ ระบุในจดหมายที่ส่งถึงพนักงานเอชเอสบีซีทั่วโลกจำนวน 235,000 คนว่า นอกเหนือจากแผนการปลดพนักงานแล้ว ธนาคารจะยังคงระงับการเปิดรับสมัครพนักงานเกือบทั้งหมดในต่างประเทศด้วย