'พปชร.'ยื่น'กกต.'แจงสมาชิกภาพส.ส.'พุทธิพงษ์'ยังไม่สิ้นสุดตาม'รธน.'
"ไพบูลย์" ยื่น "กกต." ปม สมาชิกภาพ "ส.ส." ของ "พุทธิพงษ์" ยังไม่สิ้นสุดตาม "รัฐธรรมนูญ" เหตุ "ศาลอุทธรณ์" ปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ "ศาลชั้นต้น" ไม่ออกหมายจำคุก ระหว่างสู้คดี ชี้ กรณี "ถาวร" อยู่ในข่ายเดียวกัน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นหนังสือลงเลขรับที่ 2294 ถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ด้วยไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6)ประกอบมาตรา 98(6) โดยเนื้อหาในหนังสือมีใจความว่า
ตามที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.247/2561 คดีหมายเลขแดงที่อ.317 /2564 พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 4 (นายพุทธิพงษ์) 7 ปี ทั้งนี้ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548 ข้อที่ 5 กำหนดว่า “ในคดีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปี เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่จำต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง”
ดังนั้น กรณีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 4 (นายพุทธิพงษ์) 7 ปี ด้วยอัตราโทษตามคำพิพากษาข้างต้นเกินกว่า 3 ปี จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างอุทธรณ์ แต่เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 เป็นไปตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548 ข้อ 5
ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ความว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 4 เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทง ก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยที่ 4 มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างอุทธรณ์คดี ตีราคาประกันแปดแสนบาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป ห้ามจำเลยที่ 4 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นแจ้งสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองโดยเร็ว”
เมื่อเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 คดีระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง กับ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ผู้ถูกร้อง
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ปรากฎในหน้าที่ 6 ว่า “เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากศาลจังหวัดขอนแก่น
มีคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาให้จำคุกผู้ถูกร้องไว้นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลซึ่งถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(6)
ในส่วนที่ว่า “ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” อีกด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ถูกร้องต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่นให้ประหารชีวิตและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลจังหวัดขอนแก่นแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6)”
ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลองค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ย่อมมีผลผูกพันว่า กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์
แต่ปรากฏว่า ในกรณีของนายพุทธิพงษ์ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ และ ศาลชั้นต้นจึงไม่ได้ออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ แตกต่างจากกรณีของนายนวัธ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ดังนั้น ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 จึงมีผลผูกพันให้นายพุทธิพงษ์ ยังคงมีสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐและไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6)ประกอบมาตรา 98(6)
นายไพบูลย์ กล่าวว่า นายพุทธิพงษ์ ยังคงเป็นส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ด้วยไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 ที่มีผลผูกพันคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา211วรรคสี่
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนจะสำเนาหนังสือที่มีถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบ และเห็นว่ากรณีนายถาวร เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่สิ้นสุดการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกันกับ นายพุทธิพงษ์